วันที่ 27 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ไข้โรคหูดับ ที่ อ.ท่าบ่อ และ  อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย พบผู้ป่วยโรคหูดับได้เสียชีวิต 1 ราย  เป็นชายอายุ 52 ปี  ม.6 ต.พารพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จากการกินหมูดิบ (เลือดแปลง) ช่วง 18 เม.ย.67 ที่ผ่านมา จากการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่ สสจ.หนองคาย พบว่าผู้เสียชีวิตมาจากการทานหมูดิบ(เลือดแปลง) ซึ่งแหล่งที่มาจากตลาดสด อ.ท่าบ่อ โดยจะมีรถมารับ หรือชาวบ้านเรียกว่ารถพุ่มพวง และนำไปจำหน่ายตามหมู่บ้าน

นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย เตือนคนชอบกิน "หมูดิบ" จ.หนองคาย  พบคนป่วยเป็น "ไข้หูดับ" เสียชีวิตแล้ว 3 ราย  ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 22 เม.ย. 67 เฉพาะระบาดช่วงสงกรานต์ 18 เม.ย.67 เสียชีวิต 1 ราย รักษาตัว 4 ราย แนะวิธีการป้องกัน "โรคไข้หูดับ"  คือ งดการกินเนื้อหมูดิบ หรือส่วนประกอบของเนื้อดิบต่างๆ  ถึงแม้จะเป็นเนื้อสุกแต่เลือดก็ยังเป็นเลือดดิบหากจะทานเนื้อหมูควรทำให้สุกเสียก่อน   ช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับทั้งจากการกินแหนมดิบ, หมูดิบ ลาบเลือดดิบ, ก้อยดิบ เลือดหมูแปลงและดื่มสุราร่วมกับกินอาหารสุกๆ ดิบๆ รวมไปถึงพ่อครัว แม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ สสจ.หนองคาย จึงเตือนอย่ากินแหนมหมูดิบ, ลาบเลือดดิบ รวมถึงใช้วิธีบีบมะนาวเพื่อให้หมูสุก รวมไปถึงอาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้ว อาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าหูดับ จนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้  

โรคไข้หูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมูหรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหมูดิบ, ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ โรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล, รอยถลอก และทางเยื่อบุตา เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับ ขอให้ประชาชนรับประทานหมูอย่างถูกวิธี ดังนี้

รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที,อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”, ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา,เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู,ห้ามนำเนื้อหมูที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุมาทาน,ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง   ก่อนทำอาหารทุกครั้งจะต้องให้ความสำคัญในการทำความสะอาดเนื้อสัตว์ และต้องผ่านการปรุงสุก เพื่อช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจตามมา:ฤาษีลภ-จังหวัดหนองคาย