สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม  ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น และ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นทุกๆ ประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาและร่วมหาทางแก้ไข  กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลภาคการเกษตร จึงได้จับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหา อาทิ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร และการประเมินคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซี่งเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)รวมถึงบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) ตามที่ไทยได้ให้สัญญาไว้กับประชาคมโลก

โดยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  ด้วยความสำคัญของปัญหา กรม ฯ จึงได้จัดตั้ง กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร ขึ้นมาเมื่อปี พุทธศักราช 2566 โดยยึดมั่นนโยบายที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรผ่านหลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้  เพราะเห็นว่า ยังมีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่  หลายชนิด มีแนวโน้มที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม และ มีความต้องการทางการตลาดทั้งในปัจจุบัน และ อนาคต รวมทั้งการจัดการและหาแนวทางเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตพืชและการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิต

“เพราะฉะนั้น การที่ทางสหภาพยุโรป มีข้อกีดกันทางการค้า อย่างเช่นเอาเรื่องภาษีคาร์บอนเข้ามา พิจารณาในเรื่องการซื้อสินค้าอย่างเช่นในเรื่องยางพารา ต้องปลูกในพื้นที่ ที่ไม่ทำร้ายต่อสภาพภูมิอากาศ สิ่งนี้ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. เกษตรฯ  ท่านได้เน้นย้ำให้ เราเอง ต้องดูเงื่อนไขทางการค้าของโลก ขณะเดียวกันข้อกำหนดเรื่องการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ดี เรื่อง บริบท ของคาร์บอน footprint เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ก้าวไปหนึ่งก้าวแล้ว เราเองมีความร่วมมือกับก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ตอนนี้เราเอง เป็นหน่วยงานร่วมในการตรวจสอบแล้วก็มี นักวิชาการที่จะสามารถเป็นผู้รับรองและประเมินผล ของการเก็บกักและปล่อยคาร์บอนในพืช ศก. อยู่จำนวนหนึ่งแล้ว  การส่งจนท. ไปอบรมใช้เวลาเป็นปี  พัฒนาจนสามารถมีความรู้เป็นที่ยอมรับ ของ อบก. และจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้ครอบคลุมสำหรับการรับรองที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยโดยกรมวิชาการเกษตรจะ เป็นหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบและประเมินคาร์บอนเครดิตได้ ตามมาตรฐาน ISO ของ สมอ. ซึ่ง ถือว่าเป็นความท้าทาย และ ความคืบหน้า ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของพี่น้องเกษตรกรในการประเมินได้อย่างมีนัยสำคัญ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

นอกจากนี้ นายระพีภัทร ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการทำหน้าที่ขอกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร ในด้านอื่น ๆ  อีกว่า  แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะกระทบต่อการเจริญเติบโตการให้ผลผลิตของภาคการเกษตรอย่างไร ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร พืช ศก. สำคัญ ๆ  หลักของประเทศ  ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น อ้อย ปาล์ม มัน ยาง ข้าวโพด และก็อื่น ๆ  ที่ผมได้เรียนไว้ในเบื้องต้น พืชเศรษฐกิจใหม่ ถูกมองว่าเป็นพืชที่มีรายได้สูง แม้กระทั่งทุเรียน ก็ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และ มีช่องทางสำหรับตลาดใหม่อีกมาก  

สามปีที่ผ่านมา มีการส่งออกทุเรียนมากกว่าแสนล้านติดต่อกันแล้ว  นอกจากนั้น จะไปมองเรื่องสมุนไพร ซึ่งมีสารสกัดสำคัญ ที่มีความต้องการ และมีคุณค่าสารสกัดที่สูง เป็นการตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ  เป็นประเด็นที่ทุกคนในโลกนี้ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพของตัวเอง ลดการใช้เคมีเกษตรก็ดี ลดเรื่องของการเป็นยาปฏิชีวนะต่าง ๆ  สารสกัดจากสมุนไพร มาทำเป็นยาเวชสำอาง นอกจากนั้นในเรื่องของ อาหารที่ทำมาจากพืช ทดแทนโปรตีน ก็เป็นบทบาทใหม่ ๆ  ที่ประชาชนผู้บริโภคให้ความนิยม หรือ บริโภคผักที่มีโปรตีนสูง เทียบเคียงกับเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ เราเอง กรมวิชาการเกษตรต้องมีหน้าที่ศึกษาวิจัยในพืชเศรษฐกิจเหล่านี้  เพราะถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและที่สำคัญยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอซึ่งก็จะตอบโจทย์ของรัฐบาลโดยเฉพาะ รมว. เกษตร ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า และ ท่านนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะยกระดับรายได้ของพี่น้องเกษตรกรสามเท่าในสี่ปี  เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการตั้งกองพืชเศรษฐกิจใหม่ ฯ จึงมีความจำเป็น

กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และ การจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มงาน 4 กลุ่ม คือ กลุ่มวิจัย พืชอนาคต กลุ่มวิจัยก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร  กลุ่มพัฒนาระบบถ่ายทอดเทคโนโลยี  และ กลุ่มพืชกัญชา กัญชง และ กระท่อม