วันที่ 14 พ.ค.67 กรุงเทพมหานคร จัดแถลงข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรม “กทม.เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย” (I’M IN) ตอน “ไม่เทรวม” โดยมี นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล ที่ตลาดคลองเตย เขตคลองเตย 

 

นางเบญญา กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการขยะในตลาดคลองเตยว่า ตลาดคลองเตยมีปริมาณขยะมาก เนื่องจากเปิด 24 ชั่วโมง มีผู้ค้าผักกว่า 700 แผง ให้ความร่วมมือ 300 แผง ในการคัดแยกและนำมาวางจุดที่สำนักงานเขตกำหนด และจัดให้มีการจัดเก็บเฉพาะขยะอินทรีย์โดยรถจัดเก็บขนาด 5 ตัน ในช่วงเวลา 07.00-08.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากตลาดกลางคืนสู่กลางวัน โดยมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บและคัดแยกขยะจำพวก ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใส่ในรถบรรจุแยกประเภท ก่อนนำเข้าสู่ระบบกำจัด เฉลี่ยตลาดคลองเตยคัดแยกขยะอินทรีย์ได้วันละ 15 ตัน จากนั้นจึงนำไปเข้าโรงหมักปุ๋ย ที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุชต่อไป

 

ส่วนเศษใบไม้และผักผลไม้ตกหล่นตามพื้น เฉลี่ยวันละ 1 ตัน เจ้าหน้าที่กวาดจะนำไปรวมในคอกปุ๋ยหมักที่จัดเตรียมไว้ในพื้นที่จำนวน 15 คอก เช่น บริเวณถนนอาจณรงค์ ถนนท่าเรือ เป็นต้น

 

เมื่อขยะอินทรีย์ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการหมักปุ๋ยเรียบร้อยแล้ว สำนักงานเขตคลองเตยจะนำปุ๋ยหมักที่ได้กลับมาใช้ในพื้นที่ เช่น สวนสาธารณะ ต่อไป จากข้อมูลสถิติ สำนักงานเขตคลองเตยเริ่มคัดแยกขยะอินทรีย์ตั้งแต่ ปี 2560 ตลอดจนมีนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงมีการดำเนินงานที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉลี่ย ปี 2560 คัดแยกได้ 3,000 ตัน ส่วนปี 2561-2565 ลดจำนวนลง เนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่วนในปี 2566 เพิ่มจำนวนเป็น 3,285 ตัน รวมปี 2560-2566 คัดแยกได้กว่า 20,000 ตัน เฉลี่ยค่ากำจัดขยะตันละ 2,000 บาท กทม.ประหยัดงบประมาณจากการคัดแยกขยะอินทรีย์ส่วนนี้กว่า 40 ล้านบาท

 

ส่วนขยะมูลฝอยทั่วไป จากการคัดแยกที่ต้นทาง ตามโครงการไม่เทรวม จากข้อมูล ในปี 2559 มีจำนวน 320 ตันต่อวัน และลดลงในช่วงโควิด (ปี61-65) ส่วนในปี 2566 เพิ่มจำนวนเป็น 2,263 ตันต่อวัน เฉลี่ยจากปี 2559-2566 มีขยะลดลงวันละ 70 ตัน

 

สำหรับเขตคลองเตย เริ่มโครงการไม่เทรวมตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ก.ย.66 โดยเชิญชวนสถานประกอบการที่มีขยะจำนวนมากเข้าร่วมโครงการ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ปัจจุบันมีผู้ร่วมโครงการ 29 ราย  คัดแยกขยะอินทรีย์ได้วันละประมาณ 2,000 ตัน ซึ่งจะมีการเชิญชวนผู้ประกอบการและประชาชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

 

ด้านนายเอกวรัญญู กล่าวว่า นอกจากโครงการไม่เทรวม กทม.ยังดำเนินการในมิติอื่นเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมควบคู่ด้วย เช่น จุดเติมน้ำฟรี ประกาศเจตนารมณ์ลดใช้พลาสติกของ กทม. ปรับหลักสูตรการลดขยะสำหรับโรงเรียน นำร่องโครงการฟู้ดแบงก์ 18 เขต ตั้งเป้าครบ 50 เขตในปีนี้ การเปิดรับบริจาคอาหาร ของใช้ เพื่อนำไปพัฒนาและแบ่งปันต่อ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดน้ำมันเก่าแลกน้ำมันใหม่ในอนาคต

 

สำหรับโครงการไม่เทรวม ปัจจุบันมีตลาดเข้าร่วมโครงการ 184 แห่ง ซึ่งมีระบบจัดการเองถึง 57 แห่ง มีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 600 ร้าน ในการแยกเศษอาหารก่อนให้ กทม.จัดเก็บ จากสถิติข้อมูลการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปี 2566 กทม.สามารถประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะได้ 141,474,000 บาท หรือมีขยะที่ต้องเสียค่ากำจัดลดลง จำนวน 74,460 ตัน