วันที่ 15 พ.ค.67 นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และงบประมาณ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการเช่ารถขนขยะของ กทม. จำนวนประมาณ 800-900 คัน ซึ่งกำลังจะทยอยหมดสัญญาเดิมในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 ว่า แต่เดิม กทม.ยื่นเรื่องของบประมาณผ่านสภา กทม. เพื่อของบประมาณในการเช่ารถขยะระบบน้ำมัน (สันดาป) จึงมีการอนุมัติเห็นชอบงบประมาณดังกล่าวจากสภา กทม. จากนั้นจึงมีการจัดทำข้อกําหนดเงื่อนไขการประกวดราคาเช่ารถ (TOR) และกำลังจะเริ่มประกาศใช้ แต่ผู้บริหาร กทม. กลับเปลี่ยนแนวทางต้องการเช่ารถขยะระบบไฟฟ้าทดแทน ซึ่งไม่ตรงตามจุดประสงค์ข้อบัญญัติของบประมาณในการเช่ารถ ซึ่งตนเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ควรผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. ก่อน แต่ผู้บริหาร กทม.ตีความว่าสามารถเปลี่ยนได้ภายใต้วงเงินไม่เกินงบประมาณที่ขอไป จึงไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบสภา กทม. ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งที่หน่วยงาน ป.ป.ช.เข้ามาติดตามการดำเนินงานส่วนนี้ของ กทม.

 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า หลังจากใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในการเริ่มเขียน TOR เช่ารถระบบน้ำมัน และกำลังจะประกาศใช้ เมื่อผู้บริหาร กทม.ต้องการเปลี่ยนเป็นรถระบบไฟฟ้า จึงทำให้กระบวนการเขียน TOR ล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องเขียน TOR เปิดรับทั้งแบบระบบน้ำมันและระบบไฟฟ้าควบคู่กัน ซึ่งไม่เคยเกิดกรณีนี้มาก่อน ทำให้คณะกรรมการร่าง TOR และผู้รับผิดชอบต้องใช้เวลาพิจารณาอีกประมาณ 5 เดือน เนื่องจากมีความกังวล จึงยังไม่มีการลงนามและข้อสรุป จากนั้นผู้บริหาร กทม.เห็นว่ามีบริษัทให้เช่ารถขยะระบบไฟฟ้าพร้อมให้บริการ จึงมีการกำหนดร่าง TOR ขึ้นใหม่อีกครั้ง ให้น้ำหนักไปที่การเช่ารถระบบไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ใช้เวลาร่างใหม่อีกประมาณ 3-4 เดือน

 

“เริ่มพิจารณางบประมาณตั้งแต่ปี 65 จนประกาศ TOR ไปเมื่อ ก.พ.67 มีคนร้องเรียน 18 ราย ตอนนี้อยู่ระหว่างแก้ไขตามคำร้อง เนื่องจากเงื่อนไขเดิมของ TOR ระบุโดยละเอียดว่า รถสามารถขนขยะได้จำนวนเท่าใด มีน้ำหนักรวมเท่าใด มีขนาดความหนาของเหล็กเท่าใด ยกตัวอย่าง เงื่อนไขเดิมในการของบประมาณ (ระบบน้ำมัน) กำหนดว่า รถบรรทุกสามารถขนขยะได้ 5 ตันขึ้นไป รวมน้ำหนักตัวรถแล้วต้องไม่เกิน 16 ตัน ตามเงื่อนไข TOR และกรมการขนส่งทางบก แต่กรณีเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้ามีน้ำหนักแบตเตอรี่ร่วมด้วยถึง 2 ตัน ทำให้การขนจริงทำได้เพียง 3 ตัน หากจะบรรทุก 5 ตัน น้ำหนักรวมก็จะเกิน 16 ตัน ซึ่งผิดข้อกำหนด จึงมีการพิจารณาลดขนาดของเหล็กตัวรถเพื่อให้มีน้ำหนักเบาลง เพื่อมาทดแทนน้ำหนักแบตเตอรี่ ซึ่งทำไม่ได้ ไม่ตรงเงื่อนไข จึงเป็นปัญหาขณะนี้ ไม่สามารถกำหนดประกาศ TOR ที่แน่ชัดได้”

 

นายสุทธิชัย ตั้งข้อสังเกตว่า หาก กทม.ไม่สามารถจัดหารถขยะไฟฟ้าได้ทันเวลา แล้วเปลี่ยนใจกลับไปเช่ารถระบบน้ำมันทดแทน แต่ผู้ให้เช่าคู่สัญญาเดิมไม่ยอมต่อสัญญา กทม.จะทำอย่างไร อาจต้องมีแผนสำรองเตรียมไว้ กรณีฉุกเฉิน เนื่องจากจะไม่มีรถขนขยะในช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยมีการตั้งข้อสังเกตไปแล้วในสภา กทม. เพื่อให้มีการศึกษาทดลองใช้เบื้องต้นก่อนตัดสินใจเช่าทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี เพราะอาจจัดหาได้ไม่ทัน อย่างไรก็ตาม จะมีการเชิญสำนักสิ่งแวดล้อมมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกในวันที่ 20 พ.ค.นี้ และ กทม.จะต้องรายงานให้สภา กทม.ทราบต่อไป