วันที่ 16 พ.ค.67 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา เนื่องในวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ณ โรงเรียนวัดราชนัดดา เขตพระนครว่า โรงเรียนวัดราชนัดดา เป็นหนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด กทม. มีนักเรียน 59 คน สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 โดยหลักการ โรงเรียน สังกัด กทม.เปิดเรียนฟรี มีชุดนักเรียนและอาหารเช้า-กลางวันฟรี สำหรับนักเรียนทุกคน โดย กทม.มีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 100 คน ประมาณ 47 โรงเรียน จากทั้งหมด 437 โรงเรียน แต่ได้เน้นว่าต้องมีคุณภาพไม่แพ้โรงเรียนขนาดใหญ่ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กมีข้อดีเรื่อง อัตราส่วนคุณครูต่อนักเรียน สามารถดูแลได้ทั่วถึง มีสื่อการเรียนการสอนไม่แพ้โรงเรียนขนาดใหญ่ กทม.ต้องเสริมเรื่องเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ครูนำไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ กทม.ยังมีการติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และอยู่ระหว่างวางแผนสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มเติม

 

ในส่วนนโยบายด้านการศึกษา กทม.ให้ความสำคัญ 4 ด้าน ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีห้องเรียน ห้องปลอดฝุ่น ห้องดนตรี ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ ห้องอาหาร ที่ได้มาตรฐาน 2.เพิ่มจำนวนครูให้ครบตามกรอบอัตรา เพื่อให้ครูสอนรายวิชาเดียวอย่างมีคุณภาพ รวมถึงจ้างบุคลากรทำงานด้านเอกสาร สนับสนุนเทคโนโลยี เพื่อลดภาระครู 3.พัฒนาหลักสูตรเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 (หลักสูตรกระทรวงศึกษาฯ) ซึ่งเน้นจุดวัด แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ กทม.ร่วมกับ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่อง 34 โรงเรียน ในการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะ (ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามความสนใจ ความถนัด) มาใช้เต็มรูปแบบทั้งโรงเรียน ยกตัวอย่าง จากเดิมกำหนดเรียนภาษาอังกฤษ 20 ชั่วโมง หากนักเรียนคนใดเรียนเข้าใจแล้วตั้งแต่ 5 ชั่วโมงแรก สามารถนำชั่วโมงที่เหลือไปเรียนอย่างอื่นที่สนใจได้ ส่วนนักเรียนที่เรียนครบ 20 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจ สามารถเพิ่มเวลาเรียนเสริมชั่วโมงที่ 21 เป็นต้นไปได้

 

หลักสูตรดังกล่าว เน้นออกแบบการเรียนการสอนตามความสามารถและความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก ส่วนโรงเรียนอื่น ๆ กทม.ประกาศจุดเน้นให้ดึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะนักเรียน ภายใต้แนวทาง เอ๊ะ อ๋อ โอเค คือ สงสัย เข้าใจ แล้วนำไปทำ 4.ช่วยลดภาระผู้ปกครอง เช่น สนับสนุนอาหารเช้า กลางวัน ชุดนักเรียน (ซื้อก่อนแล้วมาเบิกค่าใช้จ่ายกับโรงเรียน) ผ้าอนามัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีแผนดูแลเรื่องเด็กออกนอกระบบการศึกษา

 

ส่วนเรื่องโควิดไม่มีความกังวล เพราะโรงเรียนต่าง ๆ มีประสบการณ์ รู้ขั้นตอนการดำเนินการ แต่ห่วงเรื่องสิ่งเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบที่น่าสนใจ เข้าถึงเด็กนักเรียนได้ง่าย ปัจจุบัน กทม.ยังมีการตรวจค้นและป้องกันในโรงเรียน ซึ่งหลายหน่วยงานให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วย

 

“ขอฝากครูดูแลเรื่องสุขอานามัยและอบายมุขในโรงเรียน โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า กทม.มุ่งหวังให้ทุกโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ผ่านการดูแลของสำนักการศึกษาและฝ่ายรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน ขอให้น้อง ๆ ตั้งใจเรียน เปิดเทอมใหม่แล้ว อะไรที่ไม่ชอบปีที่แล้ว ปีนี้เริ่มใหม่ได้ทั้งหมด ปีที่แล้วไม่เก่งเลขหรืออะไร ปีนี้เก่งใหม่ได้ ฝากคุณครูทุกคนดูแลลูกหลานของกรุงเทพมหานครด้วย ปีนี้จุดเน้นของ กทม. คือ เอ๊ะ อ๋อ โอเค สอนให้เด็กคิด สอนให้เด็กลงมือทำ แล้วก็ให้โอเคเมื่อนำไปใช้” นายศานนท์ กล่าว