วันที่ 16 พ.ค.2567 ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ผอ.สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ทั่วประเทศ นายอำเภอ และผอ.สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต   โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติ และขั้นตอนกระบวนการเลือกสว. ภารกิจ บทบาท ของจังหวัด อำเภอ และเขต ถือเป็นการซักซ้อมร่วมกันในพื้นที่ แต่วันนี้เป็นการทำความเข้าใจครั้งสุดท้าย ก่อนลงสนามจริง และไม่ได้กังวลอะไร เพราะในระเบียบก็เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว และทุกอย่างมีรายละเอียดครบถ้วน

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง สนับสนุนการเลือก สว. การร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย และเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาชุมนุมสาธารณะ และใช้กลไกของกระทรวงในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการเลือกสว. อาทิ หอกระจายข่าวเสียงตามสาย ข้อมูลข่าวสารการเลือกสว.ไปสู่ประชาชน รวมถึงให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านลงพบปะประชาชน  

นายแสวง  กล่าวตอนหนึ่งว่า หน่วยงาน ของกระทรวงมหาดไทยเหมือนกระดูกสันหลังของการเลือก   หรือเส้นเลือดใหญ่ของการเลือกตั้ง    ซึ่งถือว่ามีประสบการณ์ และให้ความร่วมมือในการจัดการเลือกตั้งต่างๆ ในช่วงที่ผ่านๆ มา   อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือก สว. ครั้งนี้ ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ แต่ข้อมูลจนถึงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. มีคนรับใบสมัครไปแล้วประมาณ 1.4 หมื่นคน ดังนั้น ภาระงานของผู้ปฏิบัติงานหน้างานจะมีมากนอกจากจัดการเลือกสว.แล้ว    ยังมีหน้าที่ส่งศาลฎีกาเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ถือเป็นภาระหนักเพราะเวลามีจำกัด    อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับสำนักงานฯให้สนับสนุนผู้ว่าฯ   นายอำเภอเต็มที่   ที่ไหนมีพนักงานเพียงพอก็ประกบทุกหน่วย  ทั้งนี้ในหน้างานปัญหาเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ตนเชื่อว่า ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทยจะทำให้การเลือก  สว.สำเร็จ เรียบร้อย

นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนที่เป็นประเด็นมาร่วม 2-3 เดือน ที่คนอาจจะยังไม่ได้รับข้อมูล หรือรับแล้ว แต่เบียงประเด็นให้คนในสังคมสับสน กกต.เจอสภาพนี้มาตลอด อย่างเช่น ที่มีนักวิชาการที่ไปให้ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ก็ไม่อ่านกฎหมายสักตัว แล้วพูดไปทำให้สังคมเกิดความสับสน แต่ยืนยันว่า สิ่งที่กกต.ออกแบบนั้นเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราก็ต้องทำตามกฎหมาย หากหลุดออกจากกฎหมายก็เข้าคุก เข้าตะราง ทั้งนี้ แม้จะบอก สว.ให้เป็นกลาง แต่มันก็เป็นการเมืองอยู่ดี ดังนั้นเมื่อมีการแข่งขัน มักไม่ได้พูดถึงความถูกต้อง แต่พูดถึงใครได้ใครเสีย แต่สำหรับ กกต.จะต้องพูดถึงความถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่สังคมสับสน ส่วนหนึ่งคือบรรดานักวิชาการ นักกฎหมายที่ไปพูดผ่านสื่อ ไม่อ่านกฎหมายสักตัวแล้วพูดให้สังคมสับสน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การเลือกสว.ครั้งนี้มีความซับซ้อน แต่หากพิจารณาและทำเป็นขั้นเป็นตอน   ก็ถือว่าไม่ซับซ้อน  

“สว.ครั้งนี้  รัฐธรรมนูญมาตรา 107 ให้มาจากการเลือกกันเองจากผู้มีความรู้ประสบการณ์   ประวัติการทำงาน อ่านสองบรรทัดก็รู้แล้วว่าประชาชนไม่มีสิทธิ แต่การเลือก สว.นั้น   ไม่ใช่การเลือกคนมาจากอนาคตเหมือนการเลือก สส. ที่อนุญาตให้มีการแสดงวิสัยทัศน์   ว่าเมื่อเป็นแล้วจะทำอะไร แต่ สว.ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ในการออกกฎหมายต่างๆ ต้องการคนดี ซึ่งดูจากประวัติที่ผ่านมา ไม่ใช่ดูจากคำพูดว่า เข้าไปแล้ว  จะไปทำสิ่งนั้น  สิ่งนี้ไม่ได้เลือกจากการแสดงวิสัยทัศน์   จุดยืนเหมือนนักการเมือง กกต.ก็ต้องมาออกแบบการเลือก   ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด” นายแสวง กล่าว   

นายแสวง กล่าวว่า ส่วนการแนะนำตัวของผู้สมัคร ขณะนี้ กกต.ได้แก้ไขระเบียบแนะนำตัวแล้ว สามารถแนะนำตัวผ่านสื่อโซเชียลทุกแพลตฟอร์มได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบแนะนำตัวตามแบบ สว.3 ขอให้ศึกษาระเบียบแนะนำตัวให้ชัดเจน  ทั้งนี้ยอมรับว่าในการเลือก สว. ในครั้งนี้ ตนรู้สึกสบายใจ เพราะหลายคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และจะเข้าใจกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆจากการศึกษาเอง  แต่รายละเอียดบางอย่างจะต้องมีการซักซ้อมเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน