เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 67 พฤษภาคม 2566 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr มีเนื้อหาดังนี้...

การเสียชีวิตของคุณเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ และมีศักยภาพคนหนึ่ง ที่จะอาจจะมีโอกาสได้ทำสิ่งดีๆและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและต่อประเทศชาติในอนาคตเป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

บุ้งเป็นเด็กเรียนดี จบปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังสามารถทำงานพิเศษเป็น tutor ภาษาอังกฤษ ในระดับประถม และระดับมัธยม อีกด้วย

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ ออนไลน์ ระบุว่า บุ้งเริ่มสนใจการเมืองและเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. ในการประท้วงขับไล่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ แต่เปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองหลังจากที่ได้รับข้อมูลจาก คุณ พรรณิการ์ วานิช ว่าคนเสื้อแดงต้องเสียชีวิตจำนวนมากจากการสลายการชุมนุม จึงรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดง ต่อมาตั้งแต่ปี 2563 จึงเข้าร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มทะลุวัง

บุ้งถูกดำเนินคดีถึง 7 คดี แต่ได้รับการประกันตัว 2 ครั้ง แต่ถูกศาลถอนประกันในคดีความผิดตามมาตรา 112 ทำโพลเรื่องขบวนเสด็จ เนื่องจากทำร้ายตำรวจศาล จึงถูกศาลสั่งจำคุกอีก 1 เดือน และถือเป็นการทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวในคดี 112 จึงต้องกลับเข้าห้องขังตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งบุ้งไม่ขอประกันตัว แต่ประท้วงด้วยการอดอาหารเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 2 ข้อคือ

1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2. ต้องไม่มีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีกในอนาคต

ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อไม่ได้รับการตอบสนอง บุ้งจึงอดอาหารต่อไป และได้ถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทันฑ์ ตามการแถลงของกรมราชทัณฑ์ บุ้งได้ยอมกลับมากินอาหารตามปกติ ตามคำขอร้องของครอบครัว แต่ปฏิเสธที่จะรับเกลือแร่และสารอาหารที่แพทย์สั่ง วันนั้นบุ้งมีอาการวูบและหัวใจหยุดเต้น แพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์พยายามปั๊มหัวใจ และส่งตัวไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในที่สุดบุ้งก็เสียชีวิต

หลังจากที่บุ้งเสียชีวิต พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และแนวร่วมขบวนการ ก็ไม่พลาดที่จะใช้โอกาสนี้ สื่อสารข้อความทางการเมืองในมุมที่ต้องการ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่พ้นข้อความเดิมๆที่เป็นแผ่นเสียงตกร่อง เช่น

" คนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก การประกันตัวเป็นสิทธิของทุกคน "

สองเรื่องนี้อธิบายกันอย่างไรก็ไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมได้ยินว่า การเห็นต่างไม่เป็นความผิด แต่การกระทำที่ไปละเมิดผู้อื่นที่ตัวเองเห็นต่าง ต่างหากที่เป็นความผิดตามกฎหมาย

เรื่องสิทธิของการประกันก็เช่นกัน การได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ต้องหาก็จริง แต่มีข้อยกเว้นว่า หากศาลมีเหตุที่จะเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาจะไปทำผิดซ้ำซากอีก หรือผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลอาจไม่อนุญาตก็ได้ และความจริงที่เกิดขึ้นคือ ผู้ที่เป็นแนวร่วมในขบวนการนี้ถูกดำเนินคดี ได้รับการประกันตัว แต่หลบหนีไปต่างประเทศแล้ว 10 ราย

ไม่เพียงแนวร่วมขบวนการ 3 นิ้ว ยังมีข้อความที่โพสต์ใน social media โดย UN Human Rights Asia ดังนี้

" # Thailand : Deeply disturbed by death of Netiporn 'Bung' Sanesangkhom who was on hunger strike to demand judicial reform & release of prisoners. We call for transparent and impartial investigation into her death and care. Freedom of expression & peaceful assembly are fundamental rights. "

" # ประเทศไทย : ไม่สบายใจอย่างมากกับการเสียชีวิตของ เนติพร บุ้ง เสน่ห์สังคม ซึ่งอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกต้องขัง เราเรียกร้องให้มีการสอบหาข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสและเป็นกลาง เสรีภาพในการแสองออกและการชุมนุมอย่างสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน "

ข้อความข้างต้นนี้ช่างเป็นแนวเดียวกันกับข้อความที่แนวร่วมขบวนการ 3 นิ้วโพสต์กันในประเทศนี้อย่างเหลือเกิน ใครเป็นส่งข้อมูลไปให้ UN Human Rights Asia ก็ไม่ทราบ ส่งข้อมูลแบบบอกความจริงครึ่งเดียวตามถนัดหรือไม่ UN Human Rights Asia ได้รู้บ้างหรือไม่ว่า การชุมนุมโดยกลุ่มทะลุวัง ไม่เคยสงบ การแสดงออกล้วนไปละเมิดผู้อื่น โดยเฉพาะไปละเมิดองค์พระประมุขของประเทศ แล้วเขารู้หรือไม่ว่า บุ้งเอง ไม่ได้แค่เป็นผู้อดอาหารเพื่อเรียกร้อง 2 ข้อดังกล่าวข้างต้น แต่บุ้งเอง เป็นผู้ถูกดำเนินคดีตามาตรา 112 ได้รับการประกันตัว แต่ทำผิดเงื่อนไขการประกัน ศาลจึงมีคำสั่งให้ถอนประกัน จากนั้นบุ้งจึงต้องกลับเข้าห้องขัง แล้วจึงประกาศว่าจะอดอาหาร

อย่างไรก็ดี ต้องนับว่า บุ้งมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวอย่างมาก เพราะบุ้งฉลาดพอที่จะต้องรู้อยู่แล้วว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่มีทางได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ 2 การอดอาหารก็ต้องรู้อยู่แล้วว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่จะต้องเสียชีวิต นอกเสียจากว่าจะยอมกลับมากินอาหารอีกครั้ง แต่จากข่าว บุ้งยอมกลับมากินอาหาร แต่คงเพราะอดอาหารเป็นเวลานานเกินไป ร่างกายจึงรวน แม้ยอมกินอาหารบ้างในที่สุด แต่ก็ยังเสียชีวิต

บุ้งเป็นคนหนึ่งที่เป็นผลผลิตของขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รู้ๆกันอยู่ว่าใครบ้างที่มีบทบาท และใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้ การเสียชีวิตของบุ้งไม่สามารถไปโทษใครได้เลยนอกจากพวกที่อยู่ในขบวนการนี้ จริงอยู่ผู้เห็นต่างไม่สมควรตาย แต่พวกคุณมิใช่หรือที่ป้อนข้อมูลที่กึ่งเท็จกึ่งจริง ชักนำให้เขาเป็นอย่างที่พวกคุณต้องการ สนับสนุนให้พวกเขาเห็นต่าง และเมื่อพวกเขาทำผิดกฎหมาย พวกคุณก็ว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นความถูกต้องแล้ว บุ้งควรจะเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ หากได้รับการชักนำไปในทิศทางที่ถูกต้อง พวกเขาต้องตายอีกกี่คนพวกคุณจึงจะล้มเลิกขบวนการนี้เสียที