สุรินทร์ จัดงานบุญบวชนาคช้าง ยิ่งใหญ่  ประเพณีบวชนาคช้าง ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวกูย ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับช้างมาอย่างยาวนาน 


วันนี้(21 พ.ค.67) ที่ศุนย์คชศึกษา(คต-ชะ-สึก-สา) และที่วัดแจ้งสว่าง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานบวชนาคช้าง ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 โดยมีนายศิริศักดิ์ ร่วมพัฒนา รองนายก อบจ.สุรินทร์  นางนัทธมน ศิริวัฒนวานิช รองนายก อบจ.สุรินทร์ นายอำเภอท่าตูม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสุรินทร์ สมาชิก อบจ.สุรินทร์ สมาชิก อบต.กระโพ และประชาชนชาวตำบลกระโพ และตำบลใกล้เคียง เข้าร่วมงาน 


โดยขบวนของนาคช้าง นั่งบนหลังช้าง ได้เดินริ้วขบวนออกจากวัดแจ้งสว่าง นาคนั่งบนหลังช้าง จำนวน 20 เชือก และช้างแต่งกายด้วยสีลวดลาย เข้าร่วมในขบวนแห่นาคช้าง อีก 50 เชือก เดินจากวัดแจ้งสว่าง ไปตามถนนลาดยาง ไปจนถึงศาล ปู่ ตา ริมฟังแม่น้ำมูล จากนั้นช้างกว่า 70 เชือก พร้อมด้วยญาติของนาค พี่น้องของนาค ได้เดินลงแม่น้ำมูล เพื่อชำระร่างกายช้าง และให้ช้างได้พักผ่อน และกินน้ำ จากนั้น ได้ขึ้นจากแม่น้ำมูล มาเพื่อร่วมประกอบพิธี เปิดงานบวชนาคช้าง และพิธีเซ่นไหว้ ปู่ ตา ที่ศาลประจำพื้นที่แดนศักดิ์สิทธิ์ แม่น้ำมูล โดยนายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมภรรยา และหัวหน้าส่วนราชการ จุดธูปเทียน เซ่นไหว้ ปู่ ตา มีนาค 20 คน เข้าร่วมเซ่นไหว้ 


 ซึ่งงาน ประเพณีบวชนาคช้างนับเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีเอกลักษณ์ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นที่บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เพียงแห่งเดียว ของประเทศไทย  ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวกูย หรือ ชาวกวย ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้างหรือคนเลี้ยงช้าง  ที่ได้สืบทอดวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และที่บ้านตากลางแห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักของผู้คนในชื่อ “หมู่บ้านช้าง” โดยประเพณีบวชนาคช้างจะถูกจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำเดือน 6 ของทุกๆ ปี ซึ่งในปี 2567 นี้ ตรงกับวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2567 


สำหรับการบวชนาคช้างนั้นไม่ได้เป็นการนำช้างมาบวช แต่เป็นการบวชของผู้ชายในหมู่บ้าน ขึ้นนั่งบนหลังช้าง สำหรับ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ภายในตัว ของนาคตามแบบประเพณีบวชนาคช้างของชาวกูยที่มีมาแต่โบราณนั้น จะเน้นให้มีสีสันสดใส จะเว้นอยู่สีเดียวคือสีดำ และเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแต่ละชิ้นนั้นก็ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและแตกต่างกันออกไปอีกมีขั้นตอนในการดำเนินพิธีที่แตกต่างจากนาคของคนไทยทั่วไป ซึ่งสามารถเห็นได้แค่ที่บ้านตากลางแห่งเดียวเท่านั้น
 

ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวกูยแล้ว หากลูกหลานคนใดต้องการจะบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ซึ่งไม่ว่าจะออกไปทำงานต่างถิ่นที่ใดก็ต้องกลับมาบวชที่บ้านตากลางแห่งนี้เท่านั้น หากบวชที่อื่นก็ไม่ถือว่าการบวชนั้นสำเร็จ ประเพณีนี้จึงเป็นประเพณีสำคัญของทุกๆ คนในหมู่บ้านชาวหมู่บ้าน หรือคนเลี้ยงช้าง ประเพณี บวชนาค ก็จะเข้าอุโบสถ์ อุปสมบทหมู่ในวันพรุ่งนี้ 22 พ.ค.2567 ที่อุโบสถ์ วัดแจ้งสว่าง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 

​​​​​​​