อ.ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงปู่นาค ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2358 (ร.ศ.35) ตรงกับปีกุน จ.ศ.1177 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)หลวงปู่นาคได้เป็นผู้สร้างวัดห้วยจระเข้ร่วมกับประชาชน ปกครองวัดมานาน 11 ปี ถึงกาลละสังขารเมื่อ ปีพ.ศ.2453 ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ 95 ปี 74 พรรษา หลวงปู่นาค สร้างพระปิดตามหาอุด เนื้อเมฆพัด เมื่อปี พ.ศ.2432 เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างเนื้อเมฆพัดมาก การผสมเนื้อแร่ต่าง ๆ การปั้นพิมพ์ และการเทหล่อองค์พระท่านทำด้วยตัวท่านเอง องค์พระที่ท่านหล่อออกมาสวยงาม ไม่มีรอยตะเข็บ ไม่เป็นฟองอากาศ เนื้อพระเป็นสีดำอมเขียว สีดำเงาคล้ายปีกแมลงทับ สวยงามพิสดาร เนื้อพระผิวตึง สมบูรณ์แบบด้านรูปทรง เอกลักษณ์ของพระปิดตาวัดห้วยจระเข้ นอกจากจะดูพิมพ์เป็นหลักแล้ว พระปิดตา วัดห้วยจระเข้จะต้องมีการลงเหล็กจารทุกองค์ด้วย ทุกพิมพ์จะมีเพียงเนื้อเมฆพัดเท่านั้น และพิมพ์ที่นิยมเป็นมาตรฐานคือ พิมพ์ท้องแฟบหรือพิมพ์หูกระต่าย และพิมพ์สะดือจุ่น ผิวของเมฆพัดจะมีความแห้งซึ่งบ่งบอกถึงความเก่า
ในการลงเหล็กจารนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคท่านนำเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้วไปลงเหล็กจารที่ท่านํ้าข้าง ๆ วัด โดยท่านจะดำลงไปจารอักขระใต้นํ้า เมื่อจารเสร็จแล้วจะปล่อยให้พระปิดตาลอยขึ้นมาเหนือนํ้าเอง โดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ ถ้าพระปิดตาองค์ไหนลงจารแล้วไม่ลอยนํ้าขึ้นมา แสดงว่าพระปิดตาองค์นั้นไม่มีพลังพุทธคุณ อันอาจจะเกิดอักขระวิบัติ จากการจารอักขระก็ได้
ในบรรดาพระปิดตาเนื้อเมฆพัดด้วยกันแล้ว แต่ไหนแต่ไรมาบรรดานักเลงพระเขายกให้ พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ เป็นสุดยอดอันดับหนึ่งของพระปิดตาเนื้อเมฆพัด ด้วยกันทั้งหมดครับผม
จุดสังเกตุและตำหนิ พระปิดตาเนื้อเมฆพัด หลวงปู่นาค พิมพ์หูกระต่าย วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม มีดังต่อไปนี้
1. รอยเหล็กจารมีความคมชัด มีนํ้าหนักที่สมํ่าเสมอกันทั้งองค์ ขนาดของเส้นยันต์จะเท่ากันทุกองค์ ในร่องของเหล็กจารจะไม่ปรากฏรอยกะเทาะให้เห็น
2. พระหัตถ์ที่ปิดพระกรรณข้างซ้ายขององค์พระจะแลดูหนากว่า และอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่ามือด้านขวา
3. นิ้วพระหัตถ์มีรอยแต่งตะไบ
4. เหล็กจารตัว “น” มีลักษณะคล้ายตัว “ฉ” ตรงบริเวณท้องจารยันต์ นะ ปถมัง
ส่วนพุทธคุณนั้นไม่ต้องพูดถึงด้วยพลังอันเข้มขลัง ทั้งแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม เป็นที่เลื่องลือกันทั่วครับผม