นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ได้รายงานให้กรมศิลปากรทราบถึงผลการสังเกตภาพเขียนสีผาแต้ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียมจ.อุบลราชธานี ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ตั้งแต่ปี 2524 ว่าเห็นความผุกร่อนของชั้นหินดินดานที่แทรกตัวสลับกับชั้นของหินทรายบริเวณภาพเขียนสีผาแต้ม มีการหลุดร่วงของหินลงเป็นบางส่วนและเห็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรผันอย่างรวดเร็วในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับเหตุการณ์ผาถล่มในพื้นที่ใกล้เคียงส่งผลให้เกิดการพังทลายของชั้นหินทราย และยังพบรอยแยกในแนวขนานและแนวตั้งฉากกับหน้าผา ซึ่งยังไม่ถึงขั้นเสียหายในทันที แต่อาจส่งผลกระทบในอนาคตได้นั้น กรมศิลปากรไม่ได้นิ่งนอนใจ และเพื่อเป็นการป้องกันตัวภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ไม่ให้เกิดความเสียหายหนัก ตนจึงได้สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ไปทำการศึกษาข้อมูลและวิธีการอนุรักษ์ไม่ให้เสื่อมสภาพและให้คงอยู่ในสภาพที่แข็งแรงต่อไป นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้สำนักศิลปากร อุบลฯ ในการหาวิธีอนุรักษ์ภาพเขียนสีดังกล่าว ไม่อยากให้ทำอย่างเร่งรีบ เพราะอาจกลายเป็นการสร้างปัญหาแก่ภาพเขียนได้ ดังนั้นจึงให้ไปจัดสัมมนาเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีผาแต้มขึ้น เพื่อระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรวบรวมองค์ความรู้แหล่งภาพเขียนสีผาแต้มจากนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนนักอนุรักษ์ในพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน “รวมทั้งอาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาเพื่อหาแนวทางและมาตรการการอนุรักษ์ รวมถึงจัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งภาพเขียนสีผาแต้มและบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้กรมศิลปากรได้จัดส่งนักวิทยาศาสตร์และช่างอนุรักษ์จิตกรรมฝาผนังเข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองโบราณสถานของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว แฟ้มภาพ