ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น ต้องเกริ่นคำว่ายินดีกับคุณ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงด้านดนตรีไทยสากล ประจำปี 2559 เป็นศิลปินที่มีเสียง “ขลุ่ย” เป็นเครื่องดนตรีสร้างสรรค์ผลงานเพลง สาธารณชนรู้จักกันดี ส่วนในที่นี้นำประวัติและผลงานจากข้อมูลศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมานำเสนอ สังเขป ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ปัจจุบันอายุ 65 ปี (เกิด 23 ม.ค. 2494) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ด้านการทำงาน เข้ารับราชการเป็นครั้งแรกที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม ในฐานะหัวหน้าภาควิชาดนตรี และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาดนตรีศึกษาที่ม.ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนอยู่ประมาณ 10 ปี ต่อมาเป็นนักดนตรีอาชีพด้วยการเข้าเป็นสมาชิกวงเดอะฟอกซ์ มีสมาชิกที่เป็นรู้จักกันคือ ช.อ้น ณ บางช้าง วงแบ๊บติค วงช็อคโกแล็ต มีนักร้องที่เป็นที่รู้จักคือ ฉันทนา กรองทอง วงโอเปี้ยม ส่วนมากจะเล่นที่โรงแรมแมนดาริน ขณะนั้นก็ทำงานให้กับอาโซน่า ได้ทำงานเบื้องหลังเป็นโปรดิวเซอร์เรียบเรียง เสียงประสานให้ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ ยอดรัก สลักใจ ในเพลงรักไม่ยุ่งมุ่งแต่งาน ในอัลบั้มชุด เมียมีเมียพี่ก็มา กิตติคุณ เชียรสงค์ , นัดดา วิยะกาญจน์ , ไพจิตร อักษรณรงค์ , สามารถ บริบูรณ์เวช เทียรี่ เมฆวัฒนา ฯลฯ จากนั้นได้มีโอกาสได้เข้ามาทำงานร่วมกับวงคาราบาว ได้ร่วมกันสร้างสรรค์บทเพลงไว้มากมาย อย่างเช่น อัลบั้มชุดกัมพูชา และอัลบั้มประวัติศาสตร์ของคาราบาว อัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ ที่มียอดขายเทปกว่า 5 ล้านตลับ ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ก็ช่วยให้แนวคิดหลายเรื่อง เช่น ลูกโซโลกีต้าร์แทรกในเมดอินไทยแลนด์เองที่ฟังติดหูกันนั่น ธนิสร์ก็จำมาจากระนาดลิเก แล้วก็ให้เล็กคาราบาวดีดแบบนี้สิ ดีดให้ได้สำเนียงระนาดลิเก ...เตร๋ง…เตร๋ง...หรืออย่างเพลงเรฟูจี ตอนแรกแต่งไว้ธรรมดา ธนิสร์ก็คิดเรียบเรียงด้วยวงเครื่องสี พวกเครื่องดนตรีคลาสิกเติมเข้าไป ก็ได้รสของเพลงต่างกันออกไปอีก แต่ที่รู้สึกว่าได้เกิดเอามากๆ ก็คือเสียงขลุ่ยในเมดอินไทยแลนด์ ลูกเล่นขลุ่ยมันเกิดจากการสื่อความในใจของตัวเราผสมผสานออกมา มีบางโน็ตที่เป็นโน๊ตบูลสเกล ไมเนอร์สเกลแบบไทย แต่เอามาปรับให้เป็นไทยยุคใหม่ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวในเวลาต่อมาอัลบั้มชุดอเมริโกย อัลบั้มชุดประชาธิปไตย อัลบั้มเวลคัมทูไทยแลนด์ อัลบั้มชีวิตสัมพันธ์สายธารสู่อีสานเขียว อัลบั้มชุดทับหลัง นอกจากนี้ ได้ประพันธ์เพลงไว้มากมายกับคาราบาว ไม่ว่าจะเป็นเพลงทานตะวัน เพลงนางนวล เป็นต้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดคิดว่าคาราบาวยุบวง โดยอัลบั้มทับหลัง เป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของธนิสร์ ศรีกลิ่นดี หนึ่งในสมาชิกคาราบาวก็ออกเดินทางบนถนนสายดนตรีด้วยตนเองอย่างเต็มตัว ได้ผลิตผลงานไว้มากมายตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกหลังจากออกมาจากคาราบาว คืออัลบั้ม ขอเดี่ยวด้วยคนนะ และหลังจากนั้นได้ออกอัลบั้มงานเดี่ยวของตนเองในนาม ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี โดยใช้ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีหลัก ซึ่งผลงานมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม ลมไผ่ ลมชีวิต จนมาถึงอัลบั้มเดือนเพ็ญ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ผู้ที่มีเสียงดนตรีในหัวใจ ได้ใช้ระยะเวลาชั่วชีวิตในการทุ่มเทให้กับงานดนตรี อีกทั้งความวิริยะอุตสาหะที่ไม่หยุดนิ่งที่จะมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนางานดนตรีให้เข้าถึงชีวิตและจิตใจ เพื่อให้คนฟังดนตรีฟังแล้วเกิดความสุขสบายใจ ด้วยปรัชญาที่ว่า “เสียงดนตรีที่ดี ต้องเริ่มมาจากจิตใจที่ดี” หากแต่คนที่ทำงานดนตรีนั้นไม่สามารถมีจิตใจที่บริสุทธิ์แล้วนั้น ยากที่จะได้เสียงดนตรีที่เข้าถึงจิตใจของผู้ฟังได้ ด้วยปรัชญาดังกล่าวข้างต้น ทำให้ธนิสร์ ยึดหลักปรัชญาเข้ามาในการทำงานดนตรีเสมอ จนทำให้ผลิตผลที่ออกมาจากการทำงานนั้นล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า ในทุกบทเพลงมีคุณลักษณะเฉพาะมีความเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะบทเพลง “เมดอินไทยแลนด์” ที่เสียงขลุ่ยได้ปลุกค่านิยมของความเป็นไทยขึ้นมาในช่วงเวลานั้น หรือบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บทเพลง “ความฝันอันสูงสุด” เสียงขลุ่ยที่เป่าออกมาสามารถสะกดอารมณ์คนฟังให้เกิดความรักชาติโดยพลัน ในด้านความเป็นครูสอนดนตรี ยังได้วางรากฐานให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดนตรีไทย “ขลุ่ย” ให้กับเยาวชนไทยให้ได้สืบสานความเป็นไทย และเป็นตัวแทนของประเทศไทยประกาศศักดาให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในเรื่องดนตรีไทย “ขลุ่ย” รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาเครื่องดนตรีไทย “ขลุ่ย” จากไม้นานาพรรณที่เลือกสรรมาและใช้เทคนิคผ่านกระบวนการที่ทำให้สามารถปรับระดับเสียงให้สามารถร่วมเล่นกับเครื่องดนตรีสากลทุกที่ในโลกได้ อาจกล่าวโดยรวมได้ว่า “ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี” เป็นทั้งอาจารย์และนักดนตรีอาชีพที่มีจุดยืนของการทำงานอย่างแรงกล้า ที่ต้องการให้คนรุ่นใหม่มาสนใจดนตรีไทยด้วยการผสมผสานเครื่องดนตรีไทยอย่าง “ขลุ่ย” ให้ออกมาเป็นดนตรีร่วมสมัย เพื่อสื่อสารระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ให้เห็นว่าขลุ่ยนั้นสามารถร่วมบรรเลงกับเครื่องดนตรีสากลในโลกนี้ได้ นี่คือบทสรุปของคนดนตรีที่ทำงานด้วยจิตใจคนนี้ได้ว่า... “ขลุ่ยคือ...ชีวิต ชีวิตคือ...ขลุ่ย”