พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิกุลทองฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ และพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ ให้ราษฎรสามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์ได้ “การพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ…ทั้งหมดนี้…จะได้ประโยชน์หลายอย่าง ข้างบนที่คลองแฆแฆเป็นน้ำกร่อย ถ้าทำโครงการแล้วทั้งหมดจะเป็นน้ำดี…ใช้การได้…คลองที่ขุดในพื้นที่พรุนี้จะเป็นอ่างเก็บน้ำจืดที่สำคัญ…และบางส่วนจะช่วยไม่ให้พรุแห้งช่วยป้องกันไฟไหม้…โครงการนี้จะเป็นโครงการคล้ายๆ บางนรา ควบคุมใหญ่ตรงนี้ ทั้งลุ่ม ควบคุมหัวท้ายคล้ายๆ หัวท้ายของบางนรา…เป็นโครงการบางนราย่อส่วน…ราษฎรจะได้ประโยชน์” พระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 30 กันยายน 2535 และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ทรงมีพระราชดำริ ความว่า “การพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ เมื่อชลประทานพัฒนาแล้วให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดูแลการเตรียมดินและการพัฒนาการเกษตรและการปรับพื้นที่ให้ใช้แรงงาน ในท้องถิ่น” ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรคลองระบายน้ำแฆแฆ ในการนี้ทรงมีพระราชดำริความว่า “…ให้นำผลการศึกษามาจากภายในศูนย์ฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงดินไปดำเนินการปรับปรุงดินในพื้นที่พรุแฆแฆ เพื่อปลูกข้าว...” และทรงแนะนำเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวที่ปลูกว่าควรเป็นพันธุ์พื้นเมืองเนื่องจากทรงทราบจากชาวบ้านว่าชอบรับประทานข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าพันธุ์ลูกผสม และข้าวพันธุ์พื้นเมืองก็เป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อดินเปรี้ยวด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 11,000 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มพรุเสื่อมโทรม มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดทั้งปี โดยกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างคลองระบายน้ำและกักเก็บน้ำเพื่อการเพาะปลูกและจัดทำระบบสูบน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้ราษฎรสามารถทำการเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยปรับพื้นที่ด้วยการขุดยกร่องในพื้นที่ลุ่มเพื่อการปลูกพืชผักประมาณ 2 ไร่ และทำการปรับปรุงพื้นที่เพื่อการปลูกข้าว จำนวน 150 ไร่ โดยใช้หินปูนฝุ่นปรับปรุงดินในอัตรา 1 ตัน/ไร่ มีราษฎรเข้าร่วมโครงการ 80 ราย ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาทและแก่นจันทร์ ได้ผลผลิต 35-40 ถัง/ไร่ ทำให้ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงมีความต้องการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น วันที่ 16 กันยายน 2546 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ และทรงเยี่ยมเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้นาย มะยีดิง แลแร เกษตรกรในโครงการได้มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ ในการนี้ ทรงมีพระราชดำริความว่า “ให้พิจารณาจัดเครื่องสีข้าวให้แก่กลุ่มเกษตรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่โครงการแฆแฆ เพื่อลดต้นทุนในการเดินทางไปโรงสี” และเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรแปลงเกษตรผสมผสานของนายมะยีดิง แลแร เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ และทรงเกี่ยวข้าวในแปลงเกษตรกร ในการนี้ได้มีพระราชกระแสว่า “...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าเรื่องเครื่องสีข้าวหากชาวบ้านดูแลเองจะได้แกลบมาใช้เลี้ยงไก่หรือทำเป็นปุ๋ยหมัก...ตามคันดิน ควรปลูกกล้วยสลับกระท้อน ปลูกกล้วยจะได้ผลเร็วได้กินด้วย” ในโอกาสนี้ได้พระราชทานเครื่องสีข้าวให้เกษตรกรไว้ใช้ในพื้นที่ อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอย่างล้นพ้น และเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ ในการนี้ทรงหว่านข้าวในแปลงเกษตรกร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกร ทั้งยังสร้างความปลาบปลื้มอันหาที่สุดมิได้ ชุมชนพัฒนา...สู่ความเข้มแข็ง จากการที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรในการ ประกอบอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การจัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้หลักสูตรต่างๆ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง และได้สนับสนุนให้นายมะยีดิง แลแร ผู้นำชุมชนในพื้นที่ เป็นตัวอย่างการทำเกษตรในพื้นที่ เช่น ปลูกพืชผัก ปลูกข้าว และไม้ผลแบบผสมผสาน จนทำให้มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น นับเป็นเกษตรกรตัวอย่างคนแรกในพื้นที่ที่ลงมือทำจนประสบผลสำเร็จ ทำให้สามารถชักจูงเกษตรกรในพื้นที่หันมาทำเกษตรมากขึ้น ในปี 2557 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ส่งเสริมและให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีเกษตรกรทั้งบ้านป่าทุ่งและบ้านบาเลาะ ตั้งกลุ่มต่างๆจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มปลูกผักเสี้ยน บ้านป่าทุ่ง มีสมาชิกจำนวน 43 ราย รวมพื้นที่ 29 ไร่ ดำเนินการปลูกผักเสี้ยนบนพื้นที่ดอนของหมู่บ้าน หนึ่งปีเกษตรกรสามารถปลูกผักเสี้ยนได้ 5 รุ่น มีรายได้เฉลี่ย 325,100 บาท/ปี 2) กลุ่มแปรรูปผักเสี้ยนดอง มีสมาชิก 11 ราย รับซื้อผักเสี้ยนจากกลุ่มปลูกผักเสี้ยนในพื้นที่ แล้วนำมาแปรรูปเป็นผักเสี้ยนดอง จำหน่ายในหมู่บ้านและตลาดทั่วไป มีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท/เดือน 3) กลุ่มปลูกมันสำปะหลังและมันเทศ มีสมาชิก 28 ราย ปลูกมันสำปะหลังพื้นที่ 48 ไร่ เก็บผลผลิตขายให้กลุ่มแปรรูป มีรายได้เฉลี่ย 13,700 บาท/ไร่/รุ่น 4) กลุ่มแปรรูปมันสำปะหลังและมันเทศ สมาชิก 15 ราย โดยรับซื้อมันสำปะหลังของกลุ่ม และกล้วยมาแปรรูป เช่น มันสำปะหลัง มันเทศ รายได้เฉลี่ย 55,000 บาท/เดือน 5) กลุ่มปลูกผัก มีสมาชิก จำนวน 22 ราย รวมพื้นที่ 42 ไร่ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการปรับพื้นที่ ทั้งพื้นที่ดอนและพื้นที่ทำนาหลังฤดูเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการปลูกผักกินผลและผักกินใบเพื่อการบริโภคและจำหน่าย ซึ่งในหนึ่งปี สามารถปลูกผักได้ 3 ครั้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 24,000 บาท/เดือน 6) กลุ่มทำนาข้าว สมาชิก จำนวน 50 ราย ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุง และหอมกระดังงา รวมพื้นที่ 200 ไร่ ข้าวให้ผลผลิตเฉลี่ย 450 - 500 กิโลกรัม/ไร่ จากพื้นที่พรุเสื่อมโทรมที่เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้กลับมาพลิกฟื้นชีวิตของเกษตรกรโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ จังหวัดปัตตานี ได้รู้จักประกอบอาชีพ มีรายได้สร้างความภาคภูมิใจแก่พี่น้องเกษตรกรอย่างยิ่ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช อย่างหาที่สุดมิได้ นายจรัส สิงประจิม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ