เสร็จสิ้นลงไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2-3 โดยที่ประชุมสภาฯ ใช้เวลาทั้งสิ้นถึง 5 วันรวมแล้วยาวนานถึง 52 ชั่วโมง ก่อนที่ประชุมลงมติรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไปเมื่อเวลา 01.15 น. ของวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา * ในสัปดาห์นี้ความร้อนแรงทางการเมือง จะกลับมาปะทุระลอกใหม่ ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 โดยเป็นร่างฉบับแก้ไขฯที่เสนอโดย “พรรคประชาธิปัตย์” สำหรับ มาตรา 83 ว่าด้วยองค์ประกอบของ สภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 91 ว่าด้วยวิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีแนวโน้มว่าการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระดังกล่าวอาจจะไม่ราบรื่น เมื่อ “พรรคก้าวไกล” เตรียมยื่นญัตติด่วน ถึงประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุวาระให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาโหวตตัดสินว่า กมธ.แก้รัฐธรรมนูญแปรญัตตินอกเหนือจากที่รับหลักการมาในวาระที่ 1 ได้หรือไม่ แต่ประเด็นนี้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มั่นใจว่าจะไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสะดุด เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรขัดต่อ “ข้อบังคับของรัฐสภา” ถามว่าที่เกิดเป็นปัญหาจนต้องนำมาสู่การเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาฯ ต้องตีความ นั้นมาจาก ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากในม.83 ได้เสนอให้มีส.ส.แบ่งเขต 400 เขต และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน / ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งแน่นอนว่า หากใช้รูปแบบนี้ จะส่งผลให้ “พรรคใหญ่” ได้เปรียบทันที ไม่ว่าจะเป็น "พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ -พรรคประชาธิปัตย์ "แต่จะเกิดปัญหา “กินรวบ” คือเกิดพรรคใหญ่ ได้ที่นั่งส.ส.มากที่สุดในสภาฯ สามารถตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” เหมือนกับที่ “พรรคไทยรักไทย”เคยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาแล้ว แต่จะทำให้ “พรรคก้าวไกล” ตลอดจนพรรคเล็ก พรรคหน้าใหม่ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทันที เพราะวิธีการคำนวณหาส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะไม่เอื้อต่อพรรคก้าวไกล เหมือนกับที่ “พรรคอนาคตใหม่” กวาดที่นั่งส.ส.เข้าสภาฯมาได้กว่า 80 ที่นั่ง ดังนั้นพรรคก้าวไกล จึงชูไอเดียการเลือกตั้งระบบเยอรมัน คือใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ใช้สูตรคำนวณ ที่ใช้ “กระแสพรรค” มาเก็บคะแนน