13 ก.ค.โหวตนายกฯคนที่ 30 มีขั้นตอนอย่างไร


วันนี้(13 ก.ค.)เวลา 09.30 น.มีวาระสำคัญคือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนโหวตนายกฯ มาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือ 376 เสียง

ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีดังนี้

1.เริ่มจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มี จำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป

พรรคการเมืองที่มีเสียงถึง 25 พรรค มีสิทธิเสนอชื่อได้ได้แก่ 1.พรรคก้าวไกล ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2.พรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ 3.พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 5.พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 6.พรรคประชาธิปัตย์

2.สำหรับการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรคต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ สามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน

3.อภิปราย-โชว์วิชั่น ประธานรัฐสภาเปิดให้สมาชิกซักถามแคนดิเดตนายกฯ พร้อมให้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกฯ

4.ในการเลือกนายกฯให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการสภาฯ จะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ ในที่ประชุมซึ่งมี ส.ส. 500 เสียง และส.ว. 250 เสียง รวมกันเป็น 750 เสียง ผู้ที่ได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไป จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ

5.ถ้าปรากฎว่า หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งจะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่