เมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 เพจเฟซบุ๊ก "Center for Medical Genomics"  ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  โพสต์รูปพร้อมข้อความ ระบุว่า  มาทำความรู้จักโอมิครอน “JN.1.4” สายพันธุ์ล่าสุดจากตระกูล BA.2.86 (Pirola) ที่คาดว่าจะมาแทนที่ JN.1โอมิครอน (BA.2.86-->JN.1-->J์N.1.4) มีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วในทุกเดือนเพื่อต่อสู้และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกาย 

การระบาดของโควิด19 ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ทั่วโลกยังคงพบการกลายพันธุ์ของไวรัสมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโอมิครอน BA.2.86 หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือพิโรลา (Pirola) ซึ่งตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 จากตัวอย่างจากประเทศเดนมาร์ก 

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกรวมทั้งองค์การอนามัยโลกในขณะนั้นมีความกังวลเพราะจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนไปมากกว่า 30 ตำแหน่งบนส่วนหนาม เมื่อเทียบกับ "บรรพบุรุษโอมิครอน BA.1/BA.2" ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองมาจากสายพันธุ์เดลตา

แต่อาจถือเป็นโชคดีของมนุษย์ที่แม้โอมิครอน BA.2.86 จะมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมแต่กลับแพร่ระบาดได้ไม่ดีนัก เพราะจนถึงปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.86 เพียง “653 ราย” 

อย่างไรก็ตามทั่วโลกคลายความวิตกได้เพียงเดือนเดียว โอมิครอน BA.2.86 ไม่ยอมแพ้ต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่สร้างสะสมมาอย่างต่อเนื่องนานเกือบ 5 ปี จากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติโดยได้เกิดการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามขึ้น 1 ตำแหน่งคือ “L455S” เกิดเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยรุ่นลูก JN.1 (B.1.1.529.2.86.1.1) ทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตทั่วโลกจากโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าพบโอมิครอน JN.1 ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในสหรัฐฯขณะนี้ ปัจจุบันสุ่มพบโอมิครอน JN.1 ในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกถึง “50,366 ราย” ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ข้อมูลไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) 

โอมิครอน JN.1 มิได้หยุดยั้งการกลายพันธุ์  ได้มีการกลายพันธุ์ไปอีกหนึ่งตำแหน่งบริเวณยีน ORF1a ที่ตำแหน่ง T170I เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อย JN.1.4  พบตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นมาจำนวน 18,243 รายจากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก 

ทีมวิจัยของ ดร. ราเชนทราม ราชนารายณ์ จาก “NYITCOM” ของมหาวิทยาลัยรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกาได้วิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่าโอมิครอนสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในสหรัฐอันดับที่หนึ่งคือโอมิครอน JN.1 (46.9%) อันดับสองคือ โอมิครอน JN.1.4 (25.2%) 

จากการวิเคราะห์จากข้อมูลจีโนมจากฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) ผ่าน CoV-Spectrum อันเป็นแพลตฟอร์มสำรวจข้อมูลจีโนม SARS-CoV-2 พบว่า

-ทั่วโลกพบโอมิครอน JN.1.4  จากผู้ติดเชื้อ 18,242 ราย มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ 36% หรือ 1.36 เท่า (ภาพ1A)

-ประเทศสหรัฐฯพบโอมิครอน JN.1.4 จากผู้ติดเชื้อ 7,430 ราย มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในสหรัฐขณะนี้ 41% หรือ 1.41 เท่า (ภาพ 1B)

-ประเทศเยอรมนีพบโอมิครอน JN.1.4  จากผู้ติดเชื้อ 247 รายมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในเยอรมนีขณะนี้ 43% หรือ 1.43 เท่า (ภาพ2A)

-ประเทศไทยพบโอมิครอน JN.1.4  จากผู้ติดเชื้อ 12 รายมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในไทยขณะนี้ 36% หรือ 1.36 เท่า (ภาพ2B)

-ในขณะที่ทั่วโลกพบโอมิครอน JN.1.4  มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า JN.1 ที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ไม่มากคือ 1% หรือ 1.01 เท่า คาดว่าค่าความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดของ JN.1.4 จะปรับเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าและระบาดเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่โอมิครอน JN.1 (ภาพ3)

ทางศูนย์จีโนมฯเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดด้วยการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมเป็นระยะ หากพบความผิดปรกติจะแจ้งให้ทุกภาคส่วนทราบในทันทีเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ที่อาจก่อให้เกิดโรครุนแรงจากการกลายพันธุ์ไปเพียงไม่กี่ตำแหน่งบนจีโนม

 

#โควิด19 #โควิด #โอมิครอน