เมื่อวันที่ 6 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา  ที่ห้องพิจารณาคดี 807 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดี อ.1939/2565 ที่นายณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี" ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ฟ้องหมิ่นประมาท ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 พร้อมเรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาท

สืบเนื่องจากนายไชยันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง กล่าวหาว่านายณัฐพล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นบุคคลที่จัดทำวิทยานิพนธ์ระดับชั้นปริญญาเอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) และผู้เขียนหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี" ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เอกราช ที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันเบื้องสูง ซึ่งนายณัฐพลได้แจ้งความไว้ที่ สน.หัวหมากและยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า โจทก์จัดทำวิทยานิพนธ์และผลงานโดยใช้เสรีภาพทางวิชาการ ดังนั้นจำเลยในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมมีเสรีภาพในการเห็นต่างจากเนื้อหาหรือข้อความในผลงานของโจทก์ และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม พิพากษายกฟ้อง

นายไชยันต์เปิดเผยว่า การอ้างอิงจะต้องมีหลักฐาน เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอน คือความเข้าใจผิดว่ารัชกาลที่ผ่านมาสนับสนุนรัฐประหาร มีความกระตือรือร้นลงนามให้กับคณะรัฐประหาร ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็จะทำให้เยาวชนที่มาอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2556 และ 2563 เข้าใจผิดได้ ทั้งหมดนี้อาจมาจากนักวิชาการบางท่านที่เขียนอะไรบิดเบือน โดยอ้างเชิงอรรถ (footnote) อย่างดีเป็นภาษาอังกฤษ จากหอจดหมาย หรือรายงานสถานทูตอเมริกา เป็นต้น แต่เมื่อเราอ่านแล้วไปตรวจสอบก็พบว่าไม่เป็นความจริงตามนั้น