วันที่ 21 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ชี้แจงกรณีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้พูดคุยกัน และเล็งเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ จึงควรมีการสื่อสารให้ทราบความคืบหน้าการตรวจสอบ โดยที่มาของการตั้งคณะกรรมการ สืบเนื่องมาจากที่นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องการแถลงข่าวโต้แย้งกันภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ เกิดความเสื่อมเสีย นายกฯจึงตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และไม่ได้เป็นฝ่ายใดมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือจะทำความจริงให้ปรากฏ ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นอย่างไร

พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า ใครทำผิดต้องได้รับผิดใครทำถูกก็ต้องได้รับความบริสุทธิ์ใครทำกรรมดีก็ต้องได้รับกรรมดีใครทำชั่วก็ต้องได้รับความชั่วจะไม่มีการกลั่นแกล้งใส่ร้ายรังแก หรือช่วยเหลือผู้ใด รวมไปถึงถ้าประชาชนท่านใดมีเบาะแสหรือข้อมูลหลักฐาน เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังตรวจสอบขอให้นำข้อมูลข่าวสารมาพบคณะกรรมการได้

เมื่อถามว่า คณะกรรมการชุดนี้จะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบมากเท่าใด พล.ต.อ.วินัย ตอบว่าตามคำสั่งให้ระยะเวลาในการตรวจสอบ 60 วัน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และยาว คณะกรรมการจึงต้องพยายามทำงานให้รวดเร็วและรายงานการตรวจสอบให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะพร้อมเก็บข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นนำเสนอ

ส่วนเรื่องนี้จะตรวจสอบประเด็นใดบ้างนั้น พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า เรื่องที่มีการแถลงโต้ตอบกัน เรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ของเว็บพนัน ซึ่งการทำความจริงให้ปรากฏต้องได้รายละเอียดว่าใคร ทำสิ่งใด อย่างไร ตนเชื่อว่าทางคณะกรรมการจะสามารถทำความจริงให้ปรากฏได้แม้จะไม่ได้ดูสำนวนการสอบสวนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่ ยืนยันว่า สามารถทำความจริงให้ปรากฏได้ โดยทางคณะกรรมมีวิธีการอื่นที่จะให้ได้มาถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง

เรื่องดังกล่าวต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเราจึงมีการขอแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม และจะรายงานให้ทราบเป็นระยะว่าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบข้อมูลส่วนใดบ้าง 

เบื้องต้นและคณะกรรมการจะต้องพยายามทำให้ทันภายใน 60 วัน แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องขยายระยะเวลา ซึ่ง ณ วันนี้เริ่มทำแล้ว แต่จะตรวจสอบทันก่อนที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกษียณหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้

วันนี้ข้อมูลต่างๆเดินทางมาจนสุดแล้วฉะนั้นการดึงข้อเท็จจริงออกมาตนคิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องยากของคณะกรรมการ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะผลการตรวจสอบครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อพล.ต.อ.วินัย ตอบว่า ผลการพิจารณาจะสรุปและส่งให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาว่าจะส่งให้หน่วยใดเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนของคดีความที่อยู่ในขั้นของ ป.ป.ช หรือคดีทางอาญาก็ดำเนินควบคู่กันไป ส่วนตัวคาดว่า ผลสอบของกรรมการชุดนี้ มาน่าจะกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในเรื่องนี้ที่มีการตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบขอยืนยันว่า ไม่ใช่การซื้อเวลา แต่เนื่องจากประเด็นนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้จึงต้องหาคนกลาง มาทำงานเพื่อไม่ให้ มีใครมีส่วนได้ส่วนเสียส่วนขณะนี้ยังไม่พิจารณาการเรียกทั้งสองนายพลมาชี้แจงอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานในส่วนอื่นๆก่อน แต่อาจจะมีการเรียกมาสอบในช่วงท้ายของการทำงาน

พล.ต.อ.วินัย กล่าวต่อว่า คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นครั้งนี้มีลักษณะการทำงานเหมือนชุดกรรมการพิเศษที่นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ  สอบเรื่องเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีบอส อยู่วิทยา โดยสุดท้ายมีผลการตรวจสอบสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทั้งพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมาแถลงว่าจะมีการปรองดองยุติข้อขัดแย้ง จะมีผลต่อการสอบหรือไม่ โดยพล.ต.อ.วินัย ยืนยันว่าไม่มีผลใดๆและไม่มีมวยล้มต้มคนดูเเน่นอน

ส่วนผลการตรวจค้นบ้านของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ใช้กรรมการชุดเดียวกันนี้ ได้ทำการเสนอนายกรัฐมนตรีไปแล้วว่าการใช้กำลังคน การใช้วิธีควรมัดระวังแต่ทั้งนี้การเข้าค้นบ้านของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์เป็นไปตามกฎหมาย