สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

การประชุมครม.เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ถูกจับจ้องจากหลายฝ่ายเป็นพิเศษ เพราะต่างสนใจว่าจะมีนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อนำมาแจกให้กับประชาชนรายละ 10,000 บาทในรูปดิจิตอล วอลเล็ต เข้าสู่วาระการพิจารณาด้วยหรือไม่ …*…

เพราะตามไทม์ไลน์ที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิตอล วอลเล็ต วางไว้นั้น ได้เลยเวลาส่งการบ้านของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมากรณีเป็นพิเศษเพื่อศึกษารวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อสังเกตุ และข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับโครงการนี้ตามที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้เคยให้ความเห็นมาแล้ว …*…

โดยเข้าใจว่าภารกิจของคณะทำงานชุดนี้จะเน้นไปที่ 8 ข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช.เป็นหลัก อันประกอบด้วย 1. รัฐบาลต้องวิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับผลประโยชน์จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง บุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพกว่ารายย่อย และบุคคลที่ไม่ใช่คนจนหรือกลุ่มเปราะบาง 2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 กับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองว่า ไม่ว่าจะหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้ก็ได้ …*…

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายของรัฐบาลต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลกระทบ และภาระทางการเงินการคลังในอนาคต โดยโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี การต้องกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 เป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ 4. ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาความเสี่ยงทางกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 172, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง, พ.ร.บ.เงินคงคลัง ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 5. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน ด้วยการกำหนดแนวทางมาตรการบริหารความเสี่ยง ป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการตรวจสอบก่อน-ระหว่าง-หลังโครงการ …*…

 6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ต้องใช้ระยะเวลาและงบประมาณมาใช้เพื่อทดสอบระบบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ แต่โครงการนี้เป็นการแจกเงินครั้งเดียวและให้ใช้ภายใน 6 เดือน 7. ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ทำการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้นดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน, การกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุนของภาครัฐ และการเพิ่มทักษะแก่แรงงาน เป็นต้น และ 8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่มีฐานะยากจนที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยใช้งบประมาณปกติ …*….

เชื่อว่าในการซักฟอกของ ส.ว.และฝ่ายค้านจะมีการชำแหละนโยบายกู้เงินมาแจกตามโครงการนี้แบบชนิดถึงพริกถึงขิง หากถึงเวลานั้นรัฐบาลไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (21/3/67)