กลับมาเขย่าขวัญโลกอย่างน่าสะพรึงอีกครั้ง หลังจากหายหน้ากันไปพัก

สำหรับ กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส หรือที่หลายคนเรียกว่า “ไอซิส” บ้าง หรือ “ไอซิล” ก็มี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกระบุว่า เป็นขบวนการก่อการร้าย

แรกเริ่มเดิมทีก็ปรากฏโฉมเมื่อช่วงกลางปี 2015 (พ.ศ. 2558) ภายใต้การนำของนายอาบู บักร์ อัลบักดาดี เคลื่อนไหวในพื้นที่ระหว่างรอยต่อพรมแดนอิรักกับซีเรีย โดยปฏิบัติการก่อการร้ายทั้งในอิรก และมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองของซีเรีย ในการต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรีย แต่ถูกปราบปรามโดยกองกำลังพันธมิตรทั้งชาติตะวันตก และรัสเซีย ที่มีทั้งกองทัพทหารหลัก และทหารนักรบรับจ้างวากเนอร์

ถึงขนาดที่ทำให้กลุ่มไอเอสระส่ำ ก่อนที่นายบักดาดี ผู้นำกลุ่มต้องปลิดชีพตนเอง ขณะหลบหนีในระหว่างพื้นที่พรมแดนซีเรียกับตุรกี เมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) ส่งผลกลุ่มไอเอส เกิดสภาพ “วงแตก” จากการที่บรรดาแกนนำ และสมาชิกกลุ่ม ต้องแตกกระสานซ่านเซ็น ไปในพื้นที่ประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ตลอดจนเอเชียกลาง เช่น อัฟกานิสถาน เป็นต้น

ในจำนวนนี้ก็มีแกนนำและสมุนไอเอสจำนวนหนึ่ง ไปลงหลักปักฐานในภูมิภาคโคราซาน ทางตอนเหนือของอิหร่าน ซึ่งต่อมาไอเอสกลุ่มนี้ ก็นำชื่อภูมิภาค คือ “โคราซาน (Khorasan) มาต่อท้าย โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มรัฐอิสลามโคราซาน (Islamic State – Khorasan Province)” หรือชื่อย่อว่า “ไอเอส-เค (IS-K)” หรือ “ไอซิส-เค (ISIS – K) ก็เรียก

กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส (Photo : AFP)

โดยไอเอส-เคกลุ่มนี้ ก็เคลื่อนไหวทั้งในอัฟกานิสถาน และบรรดาประเทศในเอเชียกลางที่ชื่อลงท้ายว่า สถานๆ ทั้งหลาย เช่น ทาจิกิสถาน พร้อมกับการมีผู้นำกลุ่มมาแล้วหลายคนในช่วงที่มา ล่าสุด ไอเอส-เค อยู่ภายใต้การนำของนายชาฮับ อัล มูฮาจีร์ ชายชาวอัฟกานิสถานจากครอบครัวพ่อค้า วัย 29 ปี และมีดีกรีเป็นวิศวกร จบจากมหาวิทยาลัยคาบูล ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ซึ่งเขาขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มไอเอส-เค ตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ. 2563) จนถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่า เมื่อยกกลุ่ม ยกก๊วน เข้าไปในประเทศต่างๆ เหล่านี้ ก็ย่อมต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มติดอาวุธเจ้าถิ่นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ยกตัวอย่างกรณีในอัฟกานิสถาน ปรากฏว่า กลุ่มไอเอส-เค ก็ต้องไปตะลุมบอนกับกลุ่มนักรบตาลีบัน เจ้าถิ่น ซึ่งมีรายงานว่า เกิดการปะทะโจมตีระหว่างกันและกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงรอยต่อที่กองทัพสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน เมื่อช่วงกลางปี 2021 (พ.ศ. 2564) ปิดฉากสงครามอัฟกานิสถานของกองทัพสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 2001 (พ.ศ. 2544) นั้น ปรากฏว่า “ไอเอส-เค” ในอัฟกานิสถาน ก็ได้ฝากผลงานก่อการร้าย ด้วยการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายถล่มสนามบินในกรุงคาบูล เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2021

ผลของระเบิดฆ่าตัวตายโดยกลุ่มไอเอส-เคโจมตีในครั้งนั้น ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 65 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 150 ราย โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น ปรากฏว่า เป็นสมาชิกกลุ่มนักรบตาลีบัน 28 ราย แต่ที่สร้างความเขย่าขวัญช็อกโลกก็คือมีทหารสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วยถึง 13 นาย ซึ่งถือเป็นการสูญเสียของกองทัพสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอัฟกานิสถาน หลังจากที่มีปฏิบัติการทางทหารบนดินแดนในเอเชียกลางแห่งนี้มายาวนานถึง 20 ปี

ล่าสุด กลุ่มไอเอส-เค ก็ได้มีปฏิบัติการเขย่าขวัญช็อกโลกครั้งใหญ่อีกคำรบ ตามการกล่าวอ้างของทางกลุ่ม ที่ออกมาอ้างความรับผิดชอบในเหตุกราดยิงในงานคอนเสิร์ต ซึ่งจัดขึ้นที่ “โครคัส ซิตี ฮอลล์” ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางธุรกิจและความบันเทิง ชานกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 133 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 150 ราย

“โครคัส ซิตี ฮอลล์” ถูกไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง หลังกลุ่มมือปืนใช้อาวุธปืนอัตโนมัติยิงถล่ม และใช้ระเบิดเพลิงโจมตี (Photo : AFP)

เหตุกราดยิงข้างต้น ไม่ผิดอะไรกับกระตุกหนวดพญาหมี เพราะลอบเข้าไปก่อเหตุถึงย่านเมืองหลวง อันเป็นใจกลาง ศูนย์กลางการปกครองประเทศกันเลยทีเดียวก็ว่าได้

ตามการรายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัสเซีย สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 11 คน ในจำนวน 4 คน เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุกราดยิงสะเทือนขวัญที่บังเกิดขึ้น พร้อมพกหลักฐานเอกสารว่า ลอบเข้ามาจากทาจิกิสถาน แต่ขณะหลบหนีถูกจับได้ในระหว่างที่จะเดินทางไปในพรมแดนยูเครน

อย่างไรก็ดี เหตุกราดยิงครั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ก็ได้มีคำเตือนจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ผ่านทางทำเนียบขาว อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มาแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า รัสเซียจะเผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายถึงในกรุงมอสโก เมืองหลวงของประเทศกันเลยทีเดียว

โดยข่าวกรองจากทางการสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า ปฏิบัติการก่อการร้ายจะมีขึ้นในพื้นที่ที่มีผู้คนไปรวมตัวชุมนุมทำกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก

ทว่า กลับถูกทางการรัสเซียเพิกเฉิย มิหนำซ้ำยังกล่าวหาว่า เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาจากทางการสหรัฐฯ เพื่อต้องการสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนชาวรัสเซีย และสร้างความปั่นป่วนก่อนที่รัสเซีย จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีกไม่กี่วันต่อมา ที่ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า “นายวลาดิเมียร์ ปูติน” ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเหนือบรรดาผู้สมัครฯ คู่แข่งคนอื่นๆ อีก 3 คน ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียต่อไปเป็นสมัยที่ 5

พร้อมกับตอบโต้ว่า ฝ่ายความมั่นคงของรัสเซีย สามารถจัดการรับมือภัยคุกคามการถูกโจมตีจากขบวนการก่อการร้ายได้

อย่างไรก็ตาม หลังคำเตือนของสหรัฐฯ ก็ปรากฏว่า อีก 2 สัปดาห์ต่อมา คือ วันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญช็อกชาวโลกอย่างที่เห็น ด้วยข้ออ้างเหตุผลเรื่องการที่รัสเซียกดขี่ต่อชาวมุสลิม และล้างแค้นที่รัสเซียเข้าไปแทรกแซงในสงครามซีเรีย จนไอเอสต้องย่อยยับไป และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มไอเอส-เค จ้องถล่มแบบให้ตรงวันที่ครบรอบในเหตุการณ์กลุ่มไอเอสวินาศกรรมถล่มกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม หลายจุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2016 (พ.ศ. 2559) ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 32 ราย แต่มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 300 ราย

ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรอง ต่างแสดงทรรศนะว่า เหตุกราดยิงในกรุงมอสโก เมืองหลวงรัสเซีย ก็เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เครือข่ายกลุ่มไอเอส อย่างไอเอส – เค นี้ ได้หวนกลับมาเขย่าขวัญชาวโลกอีกครั้งหนึ่งแล้ว และพร้อมที่จะมีปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองหลวงของประเทศที่เป็นฝ่ายปรปักษ์ เหมือนอย่างรัสเซียที่ประสบ