วันที่ 27 มี.ค.2567 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี  นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี   เดินทางไปพรรคเพื่อไทย  ทั้งที่ยังมีสถานะเป็นนักโทษ การกระทำนี้ถือว่าผิดกฎหมายพรรคการเมือง และเป็นการครอบงำพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลหรือไม่  ว่า กกต. มีหน้าที่ดูแลพรรคการเมืองอยู่แล้ว ถ้าพรรคใดยินยอมให้บุคคลใดมาครอบงำ หรือคนใดไปครอบงำพรรคการเมือง ก็มี พ.ร.ป.พรคการเมือง มาตรา 28 และ 29  ระบุไว้ชัดเจน ห้ามพรรคการเมืองยินยอมให้ผู้ใดมาครอบงำ ดังนั้นถ้ามีการกระทำใดๆ ที่อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืน 2 มาตรานี้ ก็เป็นเรื่องที่ กกต. สามารถดำเนินการได้ 

ส่วนการปรากฏตัวของนายทักษิณ มี สส. รัฐมนตรี และสมาชิกพรรค ไปพบที่พรรค ซึ่งต่างจากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่    ประธาน กกต. ยืนยันคำเดิมว่า ถ้าผิดกฎหมายจะต้องมีการครอบงำ 

“การไปที่พรรค ก็ไม่น่าจะถึงขนาดเป็นการครอบงำ  แต่หากมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าเป็นการครอบงำ ก็ถึงเวลาที่ กกต. ต้องปฏิบัติตามกฏหมาย” นายอิทธิพร กล่าว 

เมื่อถามต่อว่า ถ้านายทักษิณ เข้าไปห้องประชุมเพื่อมอบนโยบาย จะถือว่าเป็นการครอบงำใช่หรือไม่   ประธาน กกต. บอกว่า ต้องดูข้อเท็จจริง   เพราะข้อสันนิษฐานเอามาพิจารณาไม่ได้ ถ้ามีการเคลื่อนไหวทางการเมือง กกต. จะมีการติดตามเรื่อง   รวบรวมข้อเท็จจริง หากมีประเด็นก็เสนอให้เลขาธิการ กกต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนการเมืองพิจารณา   ว่าสมควรตั้งกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานหรือไม่ หากเห็นว่ามีมูลก็ต้องสืบสวนให้ครบถ้วน ว่าฝ่าฝึกกฏหมายหรือไม่   เพื่อพิจารณาเอาผิดต่อไป

ส่วนจากนี้ นายทักษิณ ก็จะเดินสายไปพบมวลชน ประชาชนทำได้หรือไม่   ประธาน กกต.ยืนยันคำเดิม  ว่าถ้าการกระทำใดๆไม่เข้าข่ายที่จะถือเป็นการครอบงำ ก็ไม่สามารถไปห้ามได้ แต่ถ้าเป็นการครอบงำ ก็ต้องมีข้อเท็จจริงด้วย    เราคงไม่สามารถตัดสินข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เฉยๆได้ 

ส่วนที่บางคนบอกว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว คำว่า ครอบครัว กับครอบงำ   มันใกล้กันหรือไม่  ประธาน กกต. หัวเราะ พร้อมบอกว่า ไม่ใกล้กันเลย แต่มี ค.ควาย เหมือนกัน