เรื่อง : ชนิดา สระแก้ว

หมายเหตุ: “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ”  รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า  สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวการเมืองสยามรัฐ” ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมือง วิเคราะห์การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ควรเน้น “ประชานิยมสุดโต่ง” เนื่องจากจะส่งผลทำให้ประชาชนเสพติดนโยบาย รวมถึงยังระบุถึงมุมมองของสังคมที่มีต่อ “หลักสูตร” ให้ผู้บริหารระดับสูงเข้ามาอบรมที่กำลังถูกวิพาก์วิจารณ์ ว่าอาจกลายเป็นจุดสร้างคอนเนคชั่น นั้นจริงหรือไม่ และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร

-มองสถานการณ์ภาพรวมทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วันนี้อย่างไรบ้าง เข้าขั้นวิกฤตแล้วหรือไม่   

คำว่าวิกฤต ขึ้นอยู่นิยามและมุมมองของแต่ละคน แต่ละเรื่อง อย่างวิกฤตเศรษฐกิจ เขาก็จะมีเกณฑ์ไว้ชัดเจนทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ World Bank ที่กำหนดชัดเจนว่าเงื่อนไขใดจึงจะเข้าข่ายสภาวะวิกฤต เช่น หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน ร้อยละ 70 ของจีดีพี ซึ่งหากดูนิยามตามนั้น สภาวะเศรษฐกิจของประเทศก็ยังไม่เข้าข่ายวิกฤต จนถึงขั้นที่ต้องดำเนินนโยบายแจกเงินเพื่อเยียวยา แต่หากถามภาพรวมของประเทศไทย ก็คงจะไม่เป็นคำที่กล่าวเกินไป หากบอกว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หรืออาจเรียกว่า เป็นฟางเส้นสุดท้าย แต่จะไปโทษว่าเป็นเพราะรัฐบาลปัจจุบันก็ดูไม่เป็นธรรมไปสักนิด เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารได้ 6 เดือนเศษ ระบบรัฐสภาไทยที่ผ่านมาถึงต้องรอให้รัฐบาลทำงานได้ถึงปีก่อนจึงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบกับ งบประมาณปี 2567 เรากำลังประกาศใช้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ว่ารัฐบาลจะใช้งบนี้ก้าวข้ามหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้อย่างไร

 แต่วิกฤตสำคัญที่เป็นอยู่ตอนนี้ และเป็นสิ่งที่รัฐต้องแก้ และแก้ได้เลย แต่เรายังไม่เห็นความชัดเจน คือวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อระบบนิติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระต่างๆ ที่ในหลายครั้งสร้างคำถามถึงเรื่องมาตรฐานของแต่ละกรณี การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ถูกวิพากวิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติ หรือการขาดความเชื่อมั่นในองค์กรตำรวจในการทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นเร่งด่วนไม่แพ้กับวิกฤตเรื่องอื่น และไม่ต้องรอจนงบประมาณ 67 ประกาศใช้ในราชกิจจาฯ และหากรัฐบาลไม่รีบกู้วิกฤตศรัทธานี้ ปัญหาที่เหลือทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ตามมาจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย

- เวลากว่าครึ่งปี สำหรับการได้ "รัฐบาลใหม่" มีผลงานที่โดดเด่น จับต้องได้บ้างหรือไม่

เราได้เห็นการริเริ่มหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจคอย่างแลนด์บริดจ์ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องนโยบายด้านยาเสพติดที่เปลี่ยนจากผู้ขายเป็นผู้เสพ ไปจนถึงเรื่องกาสิโนถูกกฎหมาย ซึ่งหลายเรื่องก็มีความละเอียดอ่อน และจะเรียกว่าเป็นนโยบายโดดเด่นของรัฐบาลชุดนี้ก็ว่าได้

แต่คำว่าโดดเด่นกับดีเด่นไม่เหมือนกัน เพราะการที่จะดีเด่นได้ ต้องประกอบด้วยความโดดเด่น และความเหมาะสม ส่วนการจะตัดสินความเป็นรูปธรรม ก็มีปัจจัยเรื่องเวลาและงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการใช้งบเพื่อการลงทุนไม่สามารถใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่างบประมาณ ปี 2567 เพิ่งได้รับความเห็นชอบ ก็ต้องรอดูกันต่อไป           

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ดำเนินนโยบายที่ค่อนไปทางประชานิยม ซึ่งหากเกินพอดีหรือสุดโต่ง นอกจากจะไม่สร้างความยั่งยืนแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและวินัยของประชาชนในระยะยาว  แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากได้รับของแจก ของฟรี แต่เราก็เห็นตัวอย่างความล้มเหลวของผลจากประชานิยมสุดโต่งในหลายประเทศ เช่น อาร์เจนติน่า ที่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ต้องถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยในกลุ่มลาตินอเมริกา ปัจจุบันมีหนี้สาธารณะ เกือบร้อยละ 90 ต่อจีดีพี

หรือกรณีเวเนซูเอล่า ที่เคยเป็นประเทศส่งออกน้ำมันสำคัญ แต่ด้วยรัฐบาลตั้งแต่ปี 2542 ดำเนินนโยบายประชานิยมสุดโต่งอย่างต่อเนื่อง พอเกิดวิกฤตราคาน้ำมันโลกตกต่ำ ช่วงปี 2557 รัฐบาลขาดรายได้แต่ไม่สามารถหยุดใช้นโยบายประชานิยมได้ เพราะประชาชนเสพติดไปแล้ว จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มโดยไม่อิงกับระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงจนประเทศแทบล้มละลาย

ยังไม่รวมกรณีของกรีซและศรีลังกา ดังนั้น ในการนำประชานิยมมาใช้ดำเนินนโยบายการทางการเมือง ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่สร้างผลลัพธ์รวดเร็ว เห็นผลทันตา หรือเป็น Quick Win จึงเป็นแนวทางที่พรรคการเมืองในไทยหลายพรรคใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการหาจุดสมดุลของนโยบายประชานิยมในระดับพอดี กับประชานิยมแบบสุดโต่ง

 -รัฐบาล ที่มี "นายกฯ" มาจาก "ซีอีโอใหญ่" จากภาคธุรกิจ ทำให้เราได้เห็นภาพที่แตกต่างไปจากที่ผ่านมาหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน         

อันที่จริง การเป็นผู้นำประเทศที่ดีไม่เกี่ยวกับที่มาของอาชีพ ประเทศไทยเรามีนายกฯมาจากทุกภาคส่วนมาแล้ว ทั้งทหาร พลเรือน นักธุรกิจ ข้าราชการ เรามีหมด ดังนั้นการดูว่าผู้นำคนไหนดีหรือไม่ดี ไม่ได้ดูจากพื้นฐาน “ที่มา” แต่ต้องดู “ที่ไป” นั่นคือ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะทำต่อไปหลังรับตำแหน่ง และในความเป็นจริง นายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคธุรกิจก็อาจจะเก่งเรื่องเศรษฐกิจ ถ้ามาจากทหารก็จะเชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคง ซึ่งก็อาจไม่ได้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น สัจธรรมความเป็นจริง คือ คนเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ผมมองว่า ความต่างหรือไม่ต่างของนายกฯท่านนี้กับคนที่ผ่านๆ มา ก็คงจะอยู่ที่คำถามว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ จะหาคนเก่งมาสนับสนุนงานในเรื่องที่ตัวเองไม่เก่งได้หรือไม่ และ มีภูมิต้านทานต่อผลประโยชน์ยั่วยุให้ดำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริต ที่เป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก ก็ต้องติดตามดูว่าการปรับคณะรัฐมนตรีที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ จะมีหน้าตาแบบที่ประชาชนคาดหวังหรือไม่

- ในนามสถาบันพระปกเกล้า กับภารกิจที่เราต้องขับเคลื่อนหลักๆ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ มีอะไรบ้าง

ในฐานะที่สถาบันพระปกเกล้า เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิติบัญญัติ ซึ่งถือเป็น1 ใน 3 เสาหลักของอำนาจอธิปไตยของไทย เรื่องหลัก ๆ 3 เรื่องที่เราพยายามขับเคลื่อน คือ 1.การพัฒนาประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ธรรมาภิบาล และ3.สันติวิธี ซึ่งหาก3 เรื่องนี้มีเสถียรภาพและความมั่นคงแล้ว เราเชื่อว่าประเทศก็จะพัฒนาไปได้อย่างสมบูรณ์

และในฐานะรองเลขาธิการ ผมมองว่า การขับเคลื่อนประเด็นหลักดังกล่าว จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่เราต้องเข้าใจว่าปัจจุบัน ปัญหาทางสังคม หลายปัญหาไม่ได้มาจากสังคมเอง แต่เกิดจากการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเหมือนทุกเรื่องที่เหรียญย่อมมีสองด้าน เทคโนโลยีที่สร้างความก้าวหน้า ก็เป็นตัวการหลักของปัญหาทางสังคม ก็ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยี ย่อมต้องใช้ทั้งสองศาสตร์ คือสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ผสมผสานกันเพื่อแก้ปัญหาให้เคลื่อนไปพร้อมกัน

ในส่วนของสถาบันเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้เราริเริ่มหลายโครงการในการใช้นวัตกรรมมาแก้ปัญหาทางสังคม ภายใต้แนวคิด Sustainovation หรือ นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทุจริตที่เราทำร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยี Metaverse รวมถึงการใช้นวัตกรรม Advanced Waste-to-Energy มาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในการจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ จะได้นำเสนอความก้าวหน้าและผลสำเร็จต่อสังคมต่อไป

-วันนี้ปัญหาการเมือง น่าจะเบาบางลง อย่างน้อยไม่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวแล้ว จะสามารถบอกได้หรือไม่ว่า วันนี้การเมืองไทยเราอยู่ในภาวะที่มี "เสถียรภาพ" แล้ว

วันนี้การเมืองไทยเกิดปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือขั้วการเมืองที่มีแนวคิดตรงข้ามมาจับมือกัน เหมือนแม่เหล็กขั้วบวกและขั้วลบมารวมกัน จนทำให้เกิดขั้วบวกใหม่ และขั้วลบใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าขั้วการเมืองถูกสลายไปหมดแล้ว แต่เกิดเสถียรภาพในขั้วการเมืองใหม่ เป็นเสถียรภาพที่ไม่ถาวร เป็นการประกอบตัวอย่างหลวมๆ

ดังนั้น ผมก็ยังเชื่อในคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร Harrold Wilson ที่ว่า “One week is a long time in politics”  หมายความว่า “สัปดาห์เดียวก็ถือว่ายาวแล้วสำหรับการเมือง อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้”          

-กรณีหลักสูตรระดับผู้บริหาร องค์กรต่างๆ ที่ไปอบรมร่วมกัน จนเกิดดรามา มีข้อวิจารณ์ว่าเป็นศูนย์รวมสร้างคอนเนคชั่น สร้างพวกพ้อง จุดนี้เรามองอย่างไร                                                     

อย่างแรกสุด คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงหนึ่งก่อนว่า เลือกคนแบบไหนมาเรียน ก็จะได้ผลผลิตจากหลักสูตรเป็นแบบนั้น หากหลักสูตรใดเลือกคนมาด้วยคอนเนคชั่น ด้วยการฝากฝังวิ่งเต้นเป็นหลัก โดยไม่พิจารณาคุณสมบัติของผู้เรียนอย่างจริงจัง ผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรก็คงจะเป็นแบบนั้น ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามีนโยบายชัดเจนว่า คุณสมบัติของผู้สมัคร คือ เกณฑ์สำคัญที่สุดในการคัดเลือกนักศึกษาของสถาบัน จะมีผู้สนับสนุนยิ่งใหญ่แค่ไหน หากคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเข้มข้น สถาบันก็ไม่รับ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ผมได้ริเริ่มในฐานะรองเลขาธิการ กำกับหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา หรือผู้ช่วยส.ส. คือ เราใช้วิธีการคัดเลือก โดยไม่ดูชื่อผู้สมัคร ไม่สนใจชื่อผู้ฝาก ในการคัดเลือกบุคคลเข้าหลักสูตรนี้ เราจะยังไม่มีการนำชื่อผู้สมัครเข้าที่ประชุมคัดเลือก แต่กรรมการจะประชุมกันเพื่อสร้างตะแกรงคุณสมบัติมาคัดคนเข้าสู่หลักสูตร โดยกำหนดเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์จากสูงสุดลดหลั่นไป

นึกภาพเหมือนเป็นตะแกรงสำหรับกรองเป็นชั้นๆ แล้วจากนั้นค่อยเอาชื่อคนสมัครทั้งหมดมากรองผ่านเครื่องมือนี้ จนได้คนเรียนที่มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ครบตามจำนวนที่รับได้ ถ้ามีไม่ครบเราก็รับเท่าที่ผ่าน

เช่น รุ่นล่าสุดรับได้ 100 คน มีผู้สมัครเกิน แต่ผู้ผ่านตะแกรงของเรามีเพียง 70 กว่าคน เราก็รับแค่นั้น ไม่ฝืนรับ ซึ่งหลักการนี้ ทำให้เราสามารถตอบคำถามสังคมได้อย่างชัดเจน และเราทำมาแล้ว 4 รุ่น ทำให้ผมประกาศให้ผู้เรียนในหลักสูตรนี้เกิดความภาคภูมิใจว่า เขาได้เข้ามาเรียนด้วยคุณสมบัติส่วนตัวของเขาเอง ไม่ใช่ได้มาเรียนเพราะคอนเนคชั่น นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราสามารถฟื้นวิกฤตศรัทธาที่ทำได้เลย โดยไม่ต้องรอ

-มีมุมที่เป็นประโยชน์ที่อยากถ่ายทอดหรือไม่

หลายคนถามผมว่า ออกมาจากการเมือง รู้สึกเสียดายหรือไม่ ผมตอบได้ทันทีเลยว่า ไม่เสียดาย วันนี้ผมรู้สึกโชคดีที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระปกเกล้า ได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากผู้บริหารให้ดูแลงานสำคัญทั้งทางด้านบริหารและด้านวิชาการ ทำให้ผมได้นำทักษะการบริหารงานภาคเอกชนและประสบการณ์จากภาคนิติบัญญัติ

ทั้งในบริบทของอดีตสมาชิกรัฐสภา และข้าราชการการเมืองระดับสูงสุดของรัฐสภา มาพัฒนาการเมืองและส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศโดยใช้รากฐานที่มั่นคงของสถาบันฯ มาสร้างความสำเร็จให้ไปไกลและกว้างขึ้น ผมหวังอย่างยิ่งว่า ผมจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ส่วนหนึ่ง ที่ช่วยทำให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเสาหลักทางการเมืองของประเทศไทยตลอดไป