นายกฯ ลั่นไม่น้อยใจ ไม่โกรธ ไม่งอน หลังเสียงสะท้อนยังมีระยะห่าง รับยังไม่พอใจผลงาน 7 เดือน ประกาศพร้อมเสียเพื่อน หากทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ด้าน “ราเมศ” ปัด “ปชป.” ส่งคนคุย “ทักษิณ” ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย  โบ้ย "เดชอิศม์" แจงดื่มกาแฟกับ "ทักษิณ" โยงขอร่วมรัฐบาลเอง

เมื่อวันที่ 15 เม.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดใจถึงการทำงานในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมาว่า มีเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจเยอะ เพราะหลายปัญหาของประชาชน ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร ที่แม้จะดีแล้ว แต่ยังสามารถดีกว่านี้ได้อีก เรื่องการท่องเที่ยว ข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย. 2567 ตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงกว่า 140 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าดีมาก แต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19  ในปี 2562 ณ เวลานี้ จากเดือนม.ค.- เม.ย. เราได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ หากคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เราได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ตนมั่นใจสถิติคนมาเที่ยวไทย 39.4 ล้านคน เราสามารถดันตัวเลขให้สูงขึ้นได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งการเปิดตลาดวีซ่าฟรี การอำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมือง การจัดการปัญหาไกด์เถื่อน ไรเดอร์เถื่อน ทำให้การเดินทางเข้าประเทศสะดวกสบายมากขึ้น 

นายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของกรมศุลกากร ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี จากรายได้ของประเทศ ปีละ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท กรมศุลกากรเป็นหนึ่งใน 3 กรมภาษีหลัก จัดเก็บภาษีได้ปีละ 1 แสนล้าน คิดเป็นประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประเทศ ถือว่าต่ำ แต่แม้เก็บได้ 3 เปอร์เซ็นต์แต่ก็เป็นกรมหลักในการควบคุมสินค้าเถื่อน ที่มากระทบชีวิตประชาชน หนึ่งในนั้นคือการควบคุมยางพาราเถื่อน จนส่งผลให้ราคายางในประเทศสูงขึ้น แต่เป็นเรื่องแปลกที่มีคนมาวิ่งเต้นกับกรมศุลกากรมากที่สุด ซึ่งตนได้ พูดหลายครั้งว่ากรมศุลกากรมีการวิ่งเต้นสูงสุด แต่แปลกที่มีการจัดเก็บรายได้ได้แค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย จึงเป็นที่มาที่ต้องพัฒนากรมศุลกากรให้เป็นกรมศุลกากรที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ ช่วยเหลือประชาชนในหลายมิติ หรือเรื่องภาษีนำเข้าที่เป็นจุดรั่วไหล ทำให้การจัดเก็บภาษีในประเทศไม่ดีเท่าที่ควร

นายกฯ ยอมรับว่า ตนไม่สบายใจหรือพึงพอใจ ตนขอใช้ คำว่ายังไม่พึงพอใจสำหรับการทำงาน 7 เดือน แต่ก็ต้องพยายามต่อไปและทำให้ทุกอย่างดียิ่งขึ้นไป รวมไปถึงเรื่องของการดึงดูดนักลงทุนเรื่องการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ปัญหายาเสพติด

นายกฯ ยังยอมรับว่าต้องปรับตัวมากจริงๆ จากการเป็นธุรกิจสู่วงการการเมือง การเป็นซีอีโอของบริษัท มีผู้ร่วมงาน คนรอบตัว ทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม เวลาบริหารจัดการต้องคำนึงถึง 4 เสาหลักนี้  เป็นผู้บริหารบริษัทก็ได้รับการซัพพอร์ตเต็มที่จากคณะกรรมการ และผู้ถือหุ้น แต่มาอยู่ในบริบทของนักการเมือง และเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่มี 141 เสียงจาก 500 เสียง และมีผู้ร่วมงานที่ต่างกัน ทั้งประชาชน สส. สว. สถาบันความมั่นคง เอ็นจีโอ สื่อมวลชน หลายภาคส่วนต้องการพูดคุย และการอธิบาย ดังนั้นตนขอใช้คำว่าหุ้นส่วนในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งแต่ละพรรค สส. แต่ละคน ก็ไปสัญญากับประชาชนแตกต่างกัน ดังนั้นการบริหารจัดการงบประมาณก็มีส่วน ทำให้การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ช้าไปบ้าง แต่การทำงานร่วมกันมา 7 เดือน เชื่อว่าเรารู้ใจกัน มีการให้เกียรติกันและกัน เชื่อว่าการขับเคลื่อนและบริหารจัดการประเทศ และการช่วยเหลือประชาชนก็จะค่อยๆดีขึ้น”

เมื่อถามว่า การเป็นนายกฯ และมีเพื่อนเป็นนักธุรกิจ ย่อมหนีไม่พ้นวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการเอื้อประโยชน์ มีวิธีปกป้องตัวเองอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า “หน้าที่ของผมไม่ไช่การเซฟตัวเอง ผมมั่นใจอยู่แล้วที่เดินมาสู่การเมือง มีจุดมุ่งหมายเดียว คือการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนในทุกมิติให้ดีขึ้น หากจะเซฟตัวเอง ผมไม่มาตรงนี้ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ผมไม่มีแน่นอน ส่วนเรื่องทรัพย์สิน เรื่องชีวิตส่วนตัว ผมลงตัวแล้ว ผมมีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้ผมอยู่ได้อย่างสบายๆ เรื่องการที่จะมาเอาผลประโยชน์ทางการเมือง ผมไม่มี คนในครอบครัวมีความสุข มีหน้าที่การงานที่เหมาะสม 

นายกฯ กล่าวว่า ตนย้ำในวันแถลงนโยบายไปแล้วว่า  3 ปีครึ่งจากนี้ไป ตนมีเรื่องเดียวคือยกระดับชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น และหวังว่าจะทำให้เพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ การที่มีเพื่อนเป็นนักธุรกิจเยอะ และตอนนี้ก็มีเพื่อนเป็นนักการเมืองเยอะ การเก็บข้อมูล การรู้ลึกทุกเรื่องและประสบการณ์ในวงการธุรกิจอีก 40 กว่าปี เชื่อว่ามีเยอะพอที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อประชาชน

เมื่อถามต่อว่า การมานั่งเป็นผู้นำอาจจะต้องเสียเพื่อนไปบ้าง ในกรณีที่ไม่มีการสมประโยชน์กัน เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนเจอเพื่อนทุกคน ก็คุยกันว่า คนอายุ 60 ปีแล้ว อยากทำสิ่งที่ตัวเองชอบ  ตนอยากไปดูฟุตบอลลิเวอร์พูลทุกนัด อยากเดินทางไปประเทศที่ไม่เคยไป ทานอาหารอร่อยในทุกประเทศ อยากหาความสุขให้ตัวเอง แต่การเข้ามาในเวทีการเมือง อยากดูแลความเป็นอยู่ประชาชนให้ดีขึ้น 

“เมื่อได้ประกาศว่าอุทิศตนแล้ว และบอกเพื่อนฝูงว่า เรื่องต่างๆ ที่จะมาขัดขวางในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น หรือสภาพจิตใจ การถูกเอาเปรียบ จากผู้ที่ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย หากเพื่อนผมทำตัวแบบนั้นก็พร้อมที่จะเสียเพื่อน เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าหากอีก 3 ปีครึ่ง ต้องมีเพื่อนน้อยลงแลกกับการที่ทำให้คนที่อยู่ในฐานพีระมิดดีขึ้น ผมก็พร้อม” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า มุมมองทางการเมืองเปลี่ยนหรือไม่ หลังเข้าสู่วงการการเมือง นายกฯ ระบุว่า หลายคนอาจบอกว่านักการเมืองมีทั้งดีและเลว แต่บางคนที่บอกว่า นักการเมืองเลวเพราะการทุจริตประพฤติมิชอบ เรื่องนั้นชัดเจน แต่บางเรื่องเป็นเรื่องของความเห็นต่าง หรือวิธีการที่แตกต่างกัน มีวิธีการดูแลประชาชนต่างจากที่รัฐบาลมอง 

ดังนั้นการที่จะต้องจูนเข้าหากัน หรือเวลามีคนมาแนะนำเรื่องอะไร และเห็นชัดเจนว่าต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว ตนคิดว่าคนพวกนั้นดูถูกตนไปนิดนึง ตรงนี้ขออย่ามาทำกันดีกว่า ส่วนนักการเมืองจะมาขออะไรก็ขอให้อยู่บนบรรทัดฐานที่เหมาะสม


นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์กับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ยังมีเสียงสะท้อนจากภายในพรรคว่าระหว่างนายกฯ กับ ส.ส.ยังมีระยะห่างกันมาก และส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวดเรื่องงบประมาณ ว่า หลายโครงการที่ขอมาก็มีได้ อย่างที่บอกงบประมาณมีจำกัด และตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ดูแลภาษีของประชาชน และมีหน้าที่ตอบกับรัฐสภาว่าภาษีนั้น มีการใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เช่น การสร้างสนามบิน ด่านชายแดนต่างๆ ต้องดูให้ดี เพราะมีการพูดคุย และดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง จึงอยากค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ขอให้ถึงเวลาก่อน ซึ่งหน้าที่ของตนเองก็ต้องปรับจูนระหว่างตนเองกับ ส.ส.ของพรรคตลอดเวลา เพราะตนเองต้องหลังพิงประชาชน เพราะเป็นคนที่ส่งให้ตนเองมายืนอยู่ตรงนี้ และต้องผ่าน ส.ส.ที่มีถึง 141 คน ยังไงก็ต้องโน้มน้าวเข้าหาตลอดเวลา และพยายามอธิบายให้เข้าใจว่าเรื่องคืออะไร ประเด็นคืออะไร เหตุผลที่ให้ได้ และให้ไม่ได้ หรือทำไมต้องได้งบประมาณน้อยลง หรือเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องของการพูดคุย เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้น้อยใจ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้งอน ยังต้องพยายามไปพบปะพูดคุย หาวิธีสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อย่างเดียว เพราะตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ซึ่งในสัปดาห์หน้า ตนเองจะลงพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ไปดูการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4

ขณะที่ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับคนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เรื่องร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลคงตอบได้ชัดเจนว่า ในส่วนของคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยคุยเรื่องนี้แม้แต่ครั้งเดียว ทุกกระบวนการมีขั้นตอนของพรรคกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุม กก.บห. และที่ประชุมกันระหว่าง กก.บห. กับ สส. ไม่มีใครที่จะมีอำนาจไปพูดคุยตกลงด้วยตนเองได้ และพรรคทำหน้าที่ฝ่ายค้านซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรรคทำหน้าที่อย่างเต็มที่  ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยออกมากล่าวหา พรรคประชาธิปัตย์ว่า มี DNA ที่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จ ตนในฐานะโฆษกก็ออกมาตอบแล้วว่ามีที่ทำสำเร็จมากมายที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ แต่ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มี DNA โกง นั่นแสดงให้เห็นว่าเรามีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน และตนก็ได้ถามนายกรัฐมนตรีไปหลายวันแล้วในเรื่องที่นายกฯ บอกว่ามีฝ่ายค้านที่ไปขอร่วมรัฐบาลนั้น ถ้าลูกผู้ชายจริงก็ต้องเปิดเผยมาว่าเป็นใคร นายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยตอบ การทำให้เกิดความสับสนพรรคก็เสียหายซึ่งต่อมาตัวนายกฯ ก็บอกเองว่ารัฐบาลมีเสียงมีเพียงพอแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปเพิ่มเสียงรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็พูดจาสับสน ถึงบอกว่าถ้าแน่จริงให้บอกมาเลยว่าใครพรรคไหนที่ไปขอร่วมรัฐบาล

“ที่สำคัญนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ก็ยืนยันชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นไม่อยากให้นายทักษิณพูดแบบคลุมเครือ ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามถึงคนที่นายทักษิณไปกินกาแฟ และกล่าวถึงนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์นั้น เรื่องนี้ตนไม่ทราบจึงตอบแทนไม่ได้ต้องสอบถามรายละเอียดจากนายเดชอิศม์เอง”