ตามหาตัวกันมานานสำหรับ “นายเจษ” กรรมการบริษัท เจ แอนด์ บีฯ ปลายทางรับกากแคดเมียมที่ส่งไปซุกตามที่ต่างๆ หลังก่อนหน้านี้ตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วหนึ่งครั้งแต่เจ้าตัวขอเลื่อน ล่าสุดวันนี้มาพบพนักงานสอบสวน ปทส. ตามนัด พร้อมยอมรับ ทำสัญญาซื้อกากแร่จากบริษัทต้นทาง จ.ตาก เพื่อเตรียมจะส่งออกไปขายต่อที่ สปป.ลาว 


นายเจษฎา เก่งรุ่งเรืองชัย กรรมการบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด พร้อม นางวรรณา เก่งรุ่งเรืองชัย ภรรยา และทนายความ เข้าให้ปากคำพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ตามหมายเรียกครั้งที่ 2

โดยนายเจษฎา บอกสื่อสั้นๆ ก่อนเข้าห้องสอบปากคำว่า กากอุตสาหกรรมที่ตนเองมีถูกต้องทั้งหมด และวันนี้ได้นำเอกสารหลักฐาน มาชี้แจงกับพนักงานสอบสวน 


ด้าน พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า นายเจษฎาเข้ามาพบพนักงานสอบสวนตั้งแต่เวลา 8.30 น. โดยเข้ามาสอบถามข้อหาต่างๆ ที่มีการร้องทุกข์ของอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และการกล่าวโทษโดยพนักงานสอบสวน เพื่อเตรียมข้อมูลมาชี้แจงในภายหลัง 

โดยในวันนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหานายเจษฎา ประกอบด้วย 4 คดี คือ ที่ตั้งบริษัท เจแอนด์บี 132 หมู่ 2 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทใหญ่ จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.โรงงาน

ที่ตั้งบริษัท เจแอนด์บี 136/2 หมู่ 2 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร มีความผิด ข้อหา ครอบครองวัตถุอันตราย เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ไม่ได้อยู่ในใบอนุญาตเป็นปลายทางของกากแคดเมียม มีความผิด ข้อหา ร่วมกันครอบครองวัตถุอันตราย กรณีที่ได้ทำสัญญากับโกดังเลขที่ 70/2 ม.7 ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ของนายหนุ่ม ในการเก็บเช่าโกดังเก็บกากแคดเมียมและความผิด ข้อหา ครอบครองวัตถุอันตราย กรณีเป็นกรรมการบริษัท ล้อโลหะไทย แมททอล จำกัด ย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่นำกากแคดเมียมมาฝากไว้

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.วัชรินทร์ บอกว่า จากการคุยนอกรอบกับนายเจษฎา  เจ้าตัวเปิดเผยเบื้องต้นว่า การซื้อขายกากแคดเมียมมีการทำสัญญากับบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด ซึ่งขายให้ตามน้ำหยัก กิโลกรัมละ 1.25 บาทโดยในสัญญา บริษัท เจ แอนด์ บี ฯ เป็นผู้ซื้อที่จะรับไปกำจัด 

แต่เมื่อสอบถามต่อ นายเจษฎายอมรับว่าตอนแรกจะพยายามส่งออกไปหลอมที่ สปป.ลาวโดยมีคนจีนรอรับซื้อ ซึ่งที่ สปป.ลาวมีบริษัทที่สามารถ แยกแคดเมียม ทองแดงและสังกะสีได้ 

ปรากฏว่าก่อนจะส่งไป สปป.ลาว มีนายจาง ติดต่อเข้ามาซื้อกากแคดเมียม 5,000 ตัน จึงขายให้กิโลกรัม 8.25 บาท ซึ่งนายจางจัดรถมารับไปเก็บไว้ที่จังหวัดชลบุรี และนายจางพยายามขายต่อให้คนอื่นอีกที แต่ไม่ให้นายเจษฎารู้ว่าขายให้ใคร 

ส่วนล็อตที่จะส่งไป สปป.ลาว ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ไม่มีการตกลงที่แน่ชัด แต่ตำรวจเชื่อว่าการประเมินราคาไม่น่าจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.25 บาท ตามที่ขายให้กับนายจาง 

ซึ่ง พล.ต.ต.วัชรินทร์  ยืนยันว่า การที่บริษัทนำกากแร่ไปขายต่อ ถือว่าผิดวัตถประสงค์ในสัญญาซื้อขาย เพระาบริษัทมีใบอนุญาตกำจัด และสัญญาซื้อขายก็ระบุว่าซื้อมากำจัด  โดยจากการสอบถาม นายเจษฎายืนยันว่ามีเครื่องมือในการกำจัดกากแร่ แต่การต้องส่งไป สปป.ลาว เพราะเครื่องมืออยู่ระหว่างซ่อมแซมทำให้ยังไม่สามารถใช้กำจัดกากแร่ได้ อย่างไรก็ตามตำรวจยังเชื่อว่า วัตถุประสงค์ในการซื้อกากแร่จากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ เพราะต้องการซื้อมาขายต่อ มากกว่าจะซื้อมากำจัด


ส่วนกรณีการอนุญาตให้ขนย้ายกากแร่มาไว้ที่โรงงานบริษัท เจ แอนด์ บีฯ 13,800 ตัน ทั้งที่ปลายทางพื้นที่จัดเก็บไม่พอ จนสุดท้ายต้องเอาไปฝากไว้ตามโกดังต่างๆ หน่วยงานไหนจะต้องเป็นคนตรวจสอบ ระหว่างอุตสาหกรรมจังหวัดตากซึ่งเป็นต้นทาง หรืออุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นปลายทาง 

 พล.ต.ต.วัชรินทร์ ยืนยันว่า ต้องเป็นปลายทาง โดยเมื่อแรกขนย้ายมาถึงจังหวัดสมุทรสาครแล้วก็เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งนายเจษฎา ให้การว่า อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเคยเข้ามาตรวจสอบแล้ว 1 ครั้ง 

ส่วนการที่อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครมาตรวจแล้ว แต่จำนวนกากแร่ไม่ตรงกับที่มีการสำแดงไว้จะเข้าข่ายละเลยหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ส่วนตำรวจก็สืบสวนไปด้วยในทางข้าง และจะนำข้อมูลไปเทียบเคียงกับของกระทรวง ซึ่งหากบก.ปทส.พบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องก็จะส่งเรื่องให้ บก.ปปป.โดยตอนนี้ได้ประสานให้กับ บก.ปปป.เรียบร้อยแล้ว 

อย่างไรก็ตาม นายเจษฎา ยืนยันว่า การขนกากแคดเมียม ไม่มีการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ  ส่วนกระแสข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐระดับรองอธิบดีเกี่ยวข้อง พล.ต.ต.วัชรินทร์ ยืนยันว่า ยังไม่มีข้อมูลถึงขั้นนั้น และการกล่าวหาใครต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน