หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จับมือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าว การผนึกกำลัง 10 หน่วยงานรัฐ ประกาศความสำเร็จการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องเซ็นสำเนา ไม่ต้องเรียกเอกสาร ลดภาระซ้ำซ้อน ตอบโจทย์ความต้องการภาคธุรกิจและประชาชน คาดประหยัดต้นทุนของ ประชาชนและผู้ประกอบการได้ถึงปีละ 7,000 ล้านบาท

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศคือ ระบบบริการภาครัฐที่สะดวกและรวดเร็วในการติดต่อขออนุมัติอนุญาตจากทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาจต้องเซ็นสำเนาเอกสารจำนวนมาก ตลอดจน การยื่นเรื่องต่างๆ ต้องใช้เอกสารหลายอย่าง แต่ปัจจุบันภาครัฐได้พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลแบบอิเล็กทรอนิกส์จากการผลักดันและขับเคลื่อนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดการผนึกกำลัง 10 หน่วยงานรัฐนำร่องที่พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลเพื่ออำนวยความสะดวกธุรกิจและประชาชน โดยไม่ต้องเรียกเอกสารและไม่ต้องเซ็นสำเนาอีกต่อไป พร้อมกล่าวชื่นชมและขอบคุณ กพร. กรมพัฒนาธุรกิจฯ และ10 หน่วยงานรัฐเป็นอย่างยิ่ง  

โดยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลนิติบุคคลของ 10 หน่วยงานรัฐครั้งนี้ สามารถลดกระบวนงานที่เรียกเอกสารลงได้ถึง 392 กระบวนงาน คิดเป็นต้นทุนที่ลดลงได้เกือบ 800 บาทต่อธุรกรรม โดยเมื่อคำนวณจากธุรกรรมภาพรวมที่มีอยู่ถึง 8.8 ล้านธุรกรรมต่อปีในปัจจุบันพบว่า จะสามารถสร้างผลการประหยัดทางเศรษฐศาสตร์ได้ราว 7,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งมิติด้านระยะเวลา การใช้เอกสาร ต้นทุนทางบัญชีและค่าเสียโอกาสในการทำงาน ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบความสำเร็จในการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบ การให้บริการภาครัฐ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับแนวทางของประเทศเอสโตเนียที่เป็นต้นแบบการนำระบบบริการภาครัฐแบบดิจิทัลมาให้บริการเพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจและประชาชน นอกจากนี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ ยังมีโครงการมอบรางวัล "สำเภา-นาวาทอง" ซึ่งเป็นการเชิดชูและให้กำลังใจหน่วยงานภาครัฐในการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเสริมว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ โดยเน้นย้ำความสำคัญการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งผลการดำเนินการสามารถสรุปได้ดังนี้:

1) ความสำคัญของการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ
1.1 ผลักดันผ่านการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ ผ่านการออกกฎหมายต่างๆ ในการดำเนินการ ได้แก่
• การออกพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558
• พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจทัล พ.ศ.2562
• พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565

1.2 การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ ผลการดำเนินงานผลักดันพบว่า ในปี 2561 สามารถยกเลิกการเรียกรับสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 530 ใบอนุญาต และการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลในครั้งนี้เป็นความสำเร็จอีกก้าวในการอำนวยความสะดวกติดต่อขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ

2) บทบาทของ ก.พ.ร. ในการร่วมกับภาครัฐและเอกชนต่อการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเป็น e-Government
2.1 ยกระดับบริการภาครัฐโดยผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ประหยัด ตอบโจทย์ มีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย และครอบคลุม

2.2 ลดบทบาทภาครัฐ เปิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น เพื่อให้ภาครัฐมีขนาดเหมาะสมกับบทบาทภารกิจ

2.3 เร่งปรับภาครัฐสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการให้ประสบความเร็จนั้นสำนักงาน ก.พ.ร. ย้ำว่าไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนและพัฒนาระบบราชการให้เป็นเสาหลักของการพัฒนาประเทศต่อไป นางสาวอ้อนฟ้ากล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้ร่วมประกาศถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการบริการแบบไร้กระดาษอย่างแท้จริง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีผลต่อการลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนธุรกิจ และภาครัฐ โดยมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real Time ที่มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และมีความมั่นคงปลอดภัยขั้นสูง ตามมาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)หรือ สพร. ทำให้สามารถใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ในการปรับรูปแบบการให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐผ่านศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (GDX) ทำให้มีประสิทธิภาพ และมีการเพิ่มชุดข้อมูลสนับสนุนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของนิติบุคคล หรือ Business Digital ID  ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนให้ประชาชนและธุรกิจสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสนใจเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 169 หน่วยงาน และได้มีการใช้บริการข้อมูลรวมถึง 52 ล้านรายการ

ทั้งนี้ขอขอบคุณ 10 หน่วยงานภาครัฐที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลและไม่เรียกรับเอกสารนิติบุคคล รวมทั้งหอการค้าไทย สำนักงาน ก.พ.ร. และ สพร. ที่ให้การสนับสนุนและร่วมกันผลักดันสร้างความสำเร็จนี้ให้เกิดขึ้น ทำให้สามารถ    แก้ Pain Point ในการดำเนินธุรกิจและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้เศรษฐกิจของประเทศได้ด้วยความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์เดียวกันจากหน่วยงานภาครัฐที่ทำให้เกิดการลดการใช้เอกสารกระดาษ ลดค่าใช้จ่ายให้ภาคธุรกิจและประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายการเป็นรัฐบาลดิจิทัล หรือ e-Government ของประเทศให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

โดยการประกาศความสำเร็จครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อแนวทางบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐซึ่งให้ความสำคัญกับระบบบริการประชาชนและภาคเอกชนแบบดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งภาคเอกชนโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีประสานความร่วมมือเพื่อร่วมผนึกกำลังยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
10 หน่วยงานภาครัฐพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล
1) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
2) กรมที่ดิน
3) กรมธนารักษ์
4) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
5) กรมโรงงานอุตสาหกรรม
6) กรมสรรพสามิต
7) ธนาคารแห่งประเทศไทย
8) กรมศุลกากร
9) กรมบัญชีกลาง  
10) กรมสรรพากร
#ข่าววันนี้ #หอการค้าไทย #SuperDBD #กระทรวงพาณิชย์