เมื่อเวลา 14.10 น.วันที่ 5 พ.ค.2567 ที่วัดกู่พระโกนา ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และแผนพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ พร้อมรับฟังปัญหาของประชาชนเรื่องแหล่งน้ำ และการพัฒนาโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ โดยมีอธิบดีกรมชลประทาน บรรยายสรุปแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำและทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่ โดยมีส่วนราชการประชาชนรวมถึงสส.อีสาน พรรคเพื่อไทย อาทิ นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย รอรับ

นายกฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ของตนล่าสุดคือดูเรื่อง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว วันนี้ดีใจที่ได้กลับมาจ.ร้อยเอ็ด อีกครั้งโดยมาดูใน2 เรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องหลัก คือ การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นที่ทราบว่าเราอยู่ในหน้าร้อน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นของประชาชนทุกคน ถ้าน้ำไม่มีก็ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงมาดูแลเรื่องของน้ำและได้สั่งการให้กรมชลประทาน พิจารณาโครงการที่เสนอมา ตามความเหมาะสมในการพัฒนาระบบชลประทานทั้งระบบในจ.ร้อยเอ็ด และดูผลกระทบกับประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงการบริหารจัดการน้ำระยะยาวในโครงการที่อยู่นอกแผนของกรมชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในการอุปโภคบริโภค และใช้ทำมาหากิน

สำหรับการพัฒนาที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ทราบว่าเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ของภาคอีสานครอบคลุม5จังหวัด มีศักยภาพในการพัฒนาข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก จึงเป็นข้าวที่พัฒนาอย่างมีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเกษตรกรและพัฒนาการส่งเสริมปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนั้นการจัดการที่ดินและน้ำให้พัฒนาอย่างเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีประสิทธิภาพในการรักษาคุณภาพผลผลิตตลอดปี รวมทั้งจัดหาเมล็ดพันธุ์ และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ เพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าว เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน 

นายเศรษฐา กล่าวว่า ขณะที่การตลาดและการขายให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนการตลาดและส่งเสริมการขายไปทั่วตลาดโลก เป็นการขยายโอกาสทางการตลาด รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูปผลิตสินค้าให้มีราคาสูง เพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร สร้างแหล่งรายได้เสริมให้กับเกษตรกร

จากนั้นผู้แทนโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ ได้ขอให้นายกฯพิจารณาช่วยเหลือ ใน 3 ประเด็นคือ 1. โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ เป็นที่ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนที่จะส่งคืนสู่ชุมชน จึงต้องการพื้นที่ในเขตของตำรวจ จำนวน 18 ไร่ ที่ไม่ได้มีการใช้งานมากว่า 20 ปี ซึ่งได้มีการดำเนินการไปบางส่วนแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า 2. เดือนกรกฎาคม 2567 จะมีจักษุแพทย์ มาที่โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ แต่ยังขาดแคลน เรื่องงบประมาณในการจัดซื้อคุรุภัณฑ์ทั้งหมด 4 รายการ

และ 3. โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ เป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง แต่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ที่จะรับผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลอีก 3 โรงพยาบาล ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 เตียง และพบปัญหาเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย จึงอยากจะขอฝากเรื่องการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียภายในโรงพยาบาล

จากนั้นนายกฯ ได้ถ่ายรูปกับประชาชนและผู้แทนส่วนราชการต่างๆที่มอบผลิตภัณฑ์จากทุ่งกุลาฯให้กับนายกฯเป็นที่ระลึก